วันอังคารที่ 20 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555

"ความกล้าหาญ" ของนักร่างกฎหมาย

ความกล้าเป็นหัวใจสำคัญประการหนึ่งในการร่างกฎหมาย ความกล้าที่ว่านี้หมายถึง "ความกล้าที่จะยอมรับความจริง"  เหตุผลก็คือกฎหมายนั้นเกิดขึ้นจากความต้องการร่วมกันของสมาชิกในสังคม มิใช่คำสั่งของผู้มีอำนาจ ดังจะเห็นได้ว่า กฎหมายใดก็ตามที่มิได้สะท้อนความต้องการที่แท้จริงของประชาชนหรือเกิดจากความต้องการของผู้มีอำนาจ กฎหมายนั้นมักไม่เป็นที่ยอมรับและประชาชนมักจะละเลยหรือเพิกเฉยที่จะปฏิบัติตาม นั่นหมายถึงว่าผู้ร่างกฎหมายต้องมีจิตใจที่เปิดกว้าง  ยอมรับสิ่งที่เกิดขึ้นในสังคม สืบเสาะให้ลึกลงไปถึงสาเหตุอันเป็นรากฐานของปัญหา วิเคราะห์กลไกหรือวิธีการที่เหมาะสมที่สุดในการแก้ไขปัญหานั้น แล้วจึงนำมาจัดทำเป็นกฎหมาย มิใช่นั่งเทียนเขียนเอาเอง หรือเขียนกฎหมายเพื่อตอบสนองต่อความต้องการของผู้มีอำนาจเท่านั้น

ด้วยเหตุผลดังกล่าวข้างต้น บทตรวจสอบความจำเป็นในการตรากฎหมายจึงมีข้อหนึ่งที่กำหนดให้หน่วยงานผู้เสนอร่างกฎหมายต้อง "รับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้เสีย" ให้ครบทุกกลุ่มด้วย เพื่อให้ได้ข้อมูลมาประกอบการยกร่างกฎหมายรอบด้านมากที่สุด แก้ไขปัญหาต่าง ๆ ได้อย่างเป็นระบบ มิใช่แก้ปัญหาหนึ่งแต่ก่อให้เกิดปัญหาใหม่ขึ้นอีก

ผู้เขียนชอบหลักคิดของบารัค โอบามา ที่ว่าเขาไม่ชอบประชาธิปไตยเลย เพราะมันบังคับให้เขาต้องฟังสิ่งที่เขาไม่อยากฟัง แต่สิ่งที่เขาไม่ชอบนี้ทำให้เขาและทีมงานสามารถทราบถึงปัญหาและสามารถวิเคราะห์เจาะลึกลงไปถึงต้นตอที่แท้จริงของปัญหา และสามารถแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ได้อย่างเป็นระบบ เพื่อประโยชน์ของอเมริกันชน

แท้จริงแล้วความกล้าที่จะยอมรับความเป็นจริงนี้มิใช่เรื่องใหม่ แม้กระทั่งในมหาวิทยาลัยก็มีการสอนให้นักเรียนกฎหมายมีความกล้าเช่นนี้ในวิชาจริยธรรมของนักกฎหมายหรือหลักวิชาชีพของนักกฎหมาย แต่วิชานี้กลับเป็นวิชาที่นักเรียนกฎหมายไทยให้ความสนใจน้อยมาก อาจเป็นเพราะเป็นวิชาที่ "ไม่ก่อให้เกิดรายได้" อันขัดต่อค่านิยมบริโภคนิยมและสุขนิยมในปัจจุบัน โลกทัศน์ของนักเรียนกฎหมายไทยส่วนใหญ่ในปัจจุบันจึงแตกต่างจากโลกทัศน์ของนักเรียนกฎหมายไทยสมัยก่อน รวมทั้งนักเรียนกฎหมายในประเทศที่พัฒนาแล้ว นักเรียนกฎหมายไทยปัจจุบันจึงให้ความสนใจเกี่ยวกับพัฒนาการของสังคมและของโลกน้อยกว่านักเรียนกฎหมายไทยสมัยก่อน และนักเรียนกฎหมายของประเทศที่พัฒนาแล้วในปัจจุบันอยู่มาก

เมื่อนักเรียนกฎหมายเหล่านี้ได้เข้าสู่ระบบราชการ และมีอำนาจหน้าที่ในการใช้กฎหมายและตีความกฎหมาย จึงทำให้การใช้และการตีความกฎหมายไม่สามารถพัฒนาขึ้นเป็น "หลักกฎหมาย" ได้ ซึ่งแตกต่างจากการใช้การตีความกฎหมายของนักกฎหมายรุ่นก่อน ๆ  ส่วนการจัดทำร่างกฎหมายก็ปรากฏว่านักกฎหมายภาครัฐจำนวนมากขาดความกล้าเช่นนี้ เหตุผลเพราะความกลัวที่จะได้รับผลกระทบจากการทำในสิ่งที่พวกเขาเหล่านั้นก็ทราบดีอยู่ว่าควรต้องกระทำเพื่อให้เป็นไปตามหลักวิชาชีพ เมื่อความกลัวเข้ามาบดบังวิสัยทัศน์ของนักกฎหมายภาครัฐเข้าแล้ว นักกฎหมายภาครัฐในฐานะผู้ยกร่างกฎหมายก็ดี ผู้ตรวจพิจารณาร่างกฎหมายก็ดี จึึงมักไม่ยอมรับความเป็นจริงที่เกิดขึ้นในสังคม และจัดทำร่างกฎหมายตามที่ผู้มีอำนาจต้องการ

ในด้านการบริหารประเทศ การไม่ยอมรับความจริงได้ก่อให้เกิดผลลัพทธ์ที่น่าตระหนก เช่น วิกฤติการณ์ต้มยำกุ้งในปี 2540 ที่ทำให้ประเทศไทยเกือบล้มละลายเกิดจากการไม่ยอมรับความจริงเกี่ยวกับความบกพร่องของระบบการกำกับดูแลระบบสถาบันการเงิน และอัตตาของผู้มีอำนาจที่จะจัดการกับปัญหาโดยไม่รับฟังความห่วงใยของผู้เกี่ยวข้อง การไม่ยอมรับความจริงในทางบริหารจึงเสี่ยงที่จะก่อให้เกิดความผิดพลาดสูงมาก เพราะเมื่อใดที่ได้ข้อมูลที่บกพร่อง ไม่ครบถ้วน หรือไม่รอบด้าน ก็พาลจะทำให้การตัดสินใจในทางบริหารผิดพลาดได้ง่ายและสร้างปัญหาซ้ำซาก

ในฐานะนักร่างกฎหมายกลางเก่ากลางใหม่ ผู้เขียนจึงมีข้อเสนอแนะน้อง ๆ ให้เปิดใจกว้างและยอมรับความจริง อย่ายึดติดกับความคิดเห็นของตนถ่ายเดียว ลองคิดดูครับว่าการประชุมกรรมการกฤษฎีกานั้น ทำไมเราต้องเชิญผู้แทนและผู้เกี่ยวข้องมาชี้แจงด้วยเสมอ คณะกรรมการกฤษฎีกาไม่หมกมุ่นอยู่กับความคิดเห็นของตนเองหรือกลุ่มของตนเท่านั้น แต่รับฟังความคิดเห็นของผู้อื่นด้วยเสมอ สังเกตไหมครับ ทุกครั้งที่ปิดประชุม ท่านประธานกรรมการกฤษฎีกาได้กล่าวขอบคุณผู้มาชี้แจงทุกครั้ง ท่านให้ความเคารพผู้อื่นที่กรุณามาชี้แจงแสดงความเห็นให้เราแม้ว่าในหลายเรื่องท่านอาจไม่เห็นด้วยก็ตาม การซักถามทุกครั้งเป็นการใช้เหตุผล การโต้ตอบเป็นการถกเถียงทางวิชาการและข้อเท็จจริง มิได้ใช้อารมณ์

นี่เป็นเรื่องเล่าจากประสบการณ์ที่ได้รับการสั่งสอนอบรมมาจากบรมครูทั้งหลายตลอดระยะเวลา 23 ปีที่ผ่านมา......



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น