วันศุกร์ที่ 24 ตุลาคม พ.ศ. 2557

ร่าง พรบ กำหนดเวลาให้มีการทบทวนความเหมาะสมของกฎหมาย

                                                      นายปกรณ์ นิลประพันธ์
                                                            กรรมการร่างกฎหมายประจำ
                                                                  (นักกฎหมายกฤษฎีกาทรงคุณวุฒิ)
                                                                สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา

บันทึกหลักการและเหตุผลประกอบ
ร่างพระราชบัญญัติการพิจารณาทบทวนความเหมาะสมของกฎหมาย พ.ศ. ....
                  

หลักการ

                   ให้มีกฎหมายว่าด้วยการพิจารณาทบทวนความเหมาะสมของกฎหมาย

เหตุผล

                   โดยที่กฎหมายเป็นกฎเกณฑ์ที่ใช้บังคับแก่สังคม ประกอบกับปัจจัยต่าง ๆ ที่มีผลกระทบต่อความต้องการของสังคม เช่น ทัศนคติของมหาชนในเรื่องต่าง ๆ พัฒนาการทางวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและการสื่อสาร สภาพทางเศรษฐกิจ การเมืองการปกครอง สิ่งแวดล้อมทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ ตลอดจนพันธกรณีระหว่างประเทศ เป็นต้น มีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ประเทศที่พัฒนาแล้วจึงดำเนินการให้มีการพิจารณาทบทวนความเหมาะสมของบทบัญญัติของกฎหมายอยู่เสมอ เพื่อให้บทบัญญัติของกฎหมายสอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลง แต่ที่ผ่านมาประเทศไทยไม่มีมาตรการที่กำหนดให้ต้องมีการพิจารณาทบทวนความเหมาะสมของบทบัญญัติของกฎหมายอย่างสม่ำเสมอ กฎหมายจำนวนมากจึงมีบทบัญญัติที่ไม่สอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น กลายเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาประเทศและการยกระดับความสามารถในการแข่งขันของประเทศโดยรวม กรณีจึงสมควรกำหนดให้ผู้รักษาการตามกฎหมายต่าง ๆ มีหน้าที่จัดให้มีการพิจารณาทบทวนความเหมาะสมของกฎหมายทุกฉบับทุกรอบระยะเวลา และเพื่อให้การดำเนินการดังกล่าวเป็นไปอย่างต่อเนื่องและจริงจัง สมควรกำหนดให้ถือว่าผู้รักษาการตามกฎหมายซึ่งไม่ปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัตินี้จงใจละเว้นการปฏิบัติหน้าที่  จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้



ร่าง
พระราชบัญญัติ
การพิจารณาทบทวนความเหมาะสมของกฎหมาย
พ.ศ. ....
                  

.........................................
.........................................
.........................................

                   ..........................................................................
..........................................

                   โดยที่เป็นการสมควรมีกฎหมายว่าด้วยการพิจารณาทบทวนความเหมาะสมของกฎหมาย

                  ...........................................................................
..........................................

                   มาตรา ๑  พระราชบัญญัตินี้เรียกว่า "พระราชบัญญัติการพิจารณาทบทวนความเหมาะสมของกฎหมาย พ.ศ. ....

                   มาตรา ๒  พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

                   มาตรา ๓  ในพระราชบัญญัตินี้
                   “กฎหมาย” หมายความว่า พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ พระราชบัญญัติ และกฎตามกฎหมายว่าด้วยวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง
                   “รัฐมนตรีผู้รักษาการตามกฎหมาย” หมายความว่า รัฐมนตรีผู้รักษาการตามพระราชบัญญัติหรือพระราชกฤษฎีกา และให้หมายความรวมถึงประธานองค์กรตามรัฐธรรมนูญผู้รักษาการตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ และรัฐมนตรีผู้ออกกฎตามกฎหมายว่าด้วยวิธีปฏิบัติราชการทางปกครองด้วย
                    “องค์กรที่เกี่ยวข้อง” หมายความว่า นิติบุคคลที่มีลักษณะเป็นสมาคม มูลนิธิ หรือสภาที่จัดตั้งขึ้นตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์หรือตามกฎหมายเฉพาะ
                   “คณะกรรมการพัฒนากฎหมาย” หมายความว่า คณะกรรมการพัฒนากฎหมายตามกฎหมายว่าด้วยคณะกรรมการกฤษฎีกา

                   มาตรา ๔  เพื่อให้บทบัญญัติของกฎหมายสอดคล้องกับสถานการณ์ภายในประเทศและต่างประเทศที่มีความเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ให้รัฐมนตรีผู้รักษาการตามกฎหมายจัดให้มีการพิจารณาทบทวนความเหมาะสมของกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ เมื่อรัฐมนตรีผู้รักษาการตามกฎหมายนั้น
                   (๑) เห็นว่ามีเรื่องที่จะต้องมีการปรับปรุงกฎหมายนั้นตามมาตรา ๕
                   (๒) ได้รับการร้องเรียนจากองค์กรที่เกี่ยวข้องกับกฎหมายนั้น
                   (๓) ได้รับข้อเสนอแนะจากคณะกรรมการพัฒนากฎหมาย
                   กฎหมายใดที่รัฐมนตรีผู้รักษาการตามกฎหมายไม่ได้รับหนังสือร้องเรียนหรือข้อเสนอแนะตามวรรคหนึ่ง ให้รัฐมนตรีผู้รักษาการตามกฎหมายนั้นทุกรอบระยะเวลาห้าปีนับแต่วันที่ ๑ มกราคม ๒๕๕๘ เป็นต้นไป  ทั้งนี้ เว้นแต่กฎหมายนั้นจะบัญญัติเกี่ยวกับระยะเวลาการพิจารณาทบทวนความเหมาะสมของกฎหมายไว้เป็นอย่างอื่น
                   การดำเนินการตามวรรคหนึ่ง รัฐมนตรีผู้รักษาการตามกฎหมายจะจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับกฎหมายนั้นและประชาชนทั่วไปประกอบด้วยก็ได้

                   มาตรา ๕  ในการพิจารณาทบทวนความเหมาะสมของกฎหมาย ให้รัฐมนตรีผู้รักษาการตามกฎหมายพิจารณาในเรื่องดังต่อไปนี้
                   (๑) การปรับปรุงกฎหมายเพื่อลดผลกระทบและภาระของรัฐและประชาชนที่เกิดขึ้นจากกฎหมายนั้น
                   (๒) การปรับปรุงกฎหมายให้สอดคล้องกับสถานการณ์ทางเศรษฐกิจ สังคม การเมืองการปกครอง วิทยาศาสตร์เทคโนโลยี และสิ่งแวดล้อมทั้งของประเทศและของโลกที่เปลี่ยนแปลงไปเพื่อยกระดับความสามารถในการแข่งขันของประเทศ และเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน
                   (๓) การปรับปรุงกฎหมายให้สอดคล้องกับพันธกรณีระหว่างประเทศที่ประเทศไทยต้องปฏิบัติตามภายใต้บังคับกฎหมายระหว่างประเทศ
                   (๔) การใช้ระบบคณะกรรมการ การอนุมัติ การอนุญาต ใบอนุญาต และระบบการจดทะเบียนเพียงเท่าที่จำเป็น
                   (๕) การให้บริการแบบจุดเดียวเบ็ดเสร็จได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ

                    มาตรา ๖  ให้รัฐมนตรีผู้รักษาการตามกฎหมายเสนอรายงานสรุปผลการพิจารณาทบทวนความเหมาะสมของกฎหมายที่มีสาระสำคัญตามมาตรา ๕ ต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อทราบภายในกำหนดเวลา ดังต่อไปนี้
                   (๑) ภายในหนึ่งร้อยยี่สิบวันนับแต่มีกรณีตามมาตรา ๔ วรรคหนึ่ง
                   (๒) ภายในวันที่ ๓๐ มิถุนายน ของปีถัดจากปีที่ครบรอบระยะเวลาตามมาตรา ๔ วรรคสอง
                   ในกรณีที่ปรากฏว่าสมควรต้องมีการปรับปรุงแก้ไขกฎหมาย ให้รัฐมนตรีผู้รักษาการตามกฎหมายจัดทำข้อเสนอแนะเพื่อแก้ไขปรับปรุงกฎหมายนั้นไว้ในรายงานตามวรรคหนึ่งด้วย
                    กฎหมายใดไม่มีการใช้บังคับเกินสามปี ให้
รัฐมนตรีผู้รักษาการตามกฎหมายชี้แจงเหตุผลการไม่ใช้บังคับกฎหมายนั้นโดยละเอียดไว้ในรายงานตามวรรคหนึ่งด้วย และให้เสนอยกเลิกกฎหมายนั้นเสีย

                   มาตรา ๗  ในการพิจารณารายงานสรุปผลการพิจารณาทบทวนความเหมาะสมของกฎหมาย คณะรัฐมนตรีอาจขอให้คณะกรรมการพัฒนากฎหมายพิจารณาให้ความเห็นหรือข้อเสนอแนะเพื่อประกอบการพิจารณาก็ได้
                   ในกรณีที่เห็นสมควร คณะกรรมการพัฒนากฎหมายจะเสนอสรุปสาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญหรือพระราชบัญญัติดังกล่าว หรือจะจัดทำร่างเบื้องต้นของพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญหรือพระราชบัญญัตินั้น เสนอต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อประกอบการพิจารณาด้วยก็ได้

                   มาตรา ๘  เมื่อคณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบรายงานสรุปผลการพิจารณาทบทวนความเหมาะสมของกฎหมายใดแล้ว ให้มีหนังสือแจ้งรายงานดังกล่าวต่อรัฐสภาและผู้ตรวจการแผ่นดินเพื่อทราบด้วย และให้สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีเผยแพร่รายงานนั้นในระบบเครือข่ายสารสนเทศของสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี
                   ในกรณีที่องค์กรที่เกี่ยวข้องกับกฎหมายเป็นผู้ร้องเรียนให้มีการพิจารณาทบทวนความเหมาะสมของกฎหมายตามมาตรา ๔ (๒) ให้รัฐมนตรีผู้รักษาการตามกฎหมายมีหนังสือแจ้งให้องค์กรดังกล่าวทราบภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับแจ้งมติคณะรัฐมนตรีตามวรรคหนึ่ง

                   มาตรา ๙  บรรดากฎหมายที่มีผลใช้บังคับภายหลังจากวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ หากมิได้บัญญัติเกี่ยวกับระยะเวลาการพิจารณาทบทวนความเหมาะสมของกฎหมายไว้เป็นอย่างอื่น ให้รัฐมนตรีผู้รักษาการตามกฎหมายจัดให้มีการพิจารณาทบทวนความเหมาะสมของกฎหมายนั้นตามพระราชบัญญัตินี้ทุกรอบระยะเวลาห้าปีนับแต่วันที่กฎหมายนั้นใช้บังคับ
  
                   มาตรา ๑๐  รัฐมนตรีผู้รักษาการตามกฎหมายผู้ใดไม่ปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัตินี้ ให้ถือว่าจงใจละเว้นการปฏิบัติหน้าที่

                   มาตรา ๑๑  ในวาระเริ่มแรก ให้รัฐมนตรีผู้รักษาการตามกฎหมายแต่ละฉบับจัดให้มีการพิจารณาทบทวนความเหมาะสมของกฎหมายเสนอต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาภายในวันที่ ๓๑ มีนาคม ๒๕๕๘

                   มาตรา ๑๒  ให้นายกรัฐมนตรีรักษาการตามพระราชบัญญัตินี้


ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ


.................................

        นายกรัฐมนตรี

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น