วันจันทร์ที่ 23 มีนาคม พ.ศ. 2558

เกร็ดการร่างกฎหมาย 9: Positive List กับ ejusdem generis

นายปกรณ์ นิลประพันธ์[1]

                   เมื่อหลายวันก่อนมีการประชุมพิจารณาร่างพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. .... ที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ บังเอิญร่างมาตรา 8 เขียนว่า
                   “มาตรา 8  การชุมนุมสาธารณะต้องไม่กีดขวางทางเข้าออก หรือรบกวนการปฏิบัติงาน หรือการใช้บริการสถานที่ ดังต่อไปนี้
                   (1) สถานที่ทำการหน่วยงานของรัฐ
                   (2) ท่าอากาศยาน ท่าเรือ สถานีรถไฟ หรือสถานีขนส่งสาธารณะ
                   (3) โรงพยาบาล สถานศึกษา และศาสนสถาน
                   (4) สถานทูตหรือสถานกงสุลของรัฐต่างประเทศ หรือสถานที่ทำการองค์การระหว่างประเทศ
                   (5) สถานที่อื่นตามที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด

           เมื่อ (5) เขียนเช่นนี้ องค์กรด้านสิทธิมนุษยชนแห่งหนึ่งจึงยกขึ้นให้ความเห็นประกอบการพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติอย่างดุเดือดว่า ร่างพระราชบัญญัตินี้ให้อำนาจรัฐมนตรีที่จะประกาศสถานที่ใด ๆ เพิ่มเติมก็ได้ อันเป็นการให้อำนาจรัฐมนตรีลิดรอนสิทธิในการชุมนุมสาธารณะของประชาชนอย่างกว้างขวาง ช่างเผด็จการนัก!!!

                   ว่าเข้าไปนั่น!!

                   เมื่อเห็นว่ากรรมาธิการหลายท่านดูเหมือนจะเคลิ้มไปกับความเห็นขององค์กรนี้ ท่านประธานจึงหันมาถามผู้เขียนว่าเป็นอย่างที่เขาว่าจริงหรือไม่ เพราะท่านเคยได้ยินคำถามเช่นนี้มาหลายครั้งแล้ว แต่เจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องก็จะตอบเป็นเสียงเดียวกันว่ามันเป็น “แบบ”

                   “แบบ” มาอีกแล้ว!!!!

                ขอเรียนนะครับว่านี่ “ไม่ใช่แบบ” (Form) แต่เป็นวิธีการเขียนที่นักร่างกฎหมายทั่วโลกเขาเรียกว่า Positive List โดย Positive List จะมีสองส่วน กล่าวคือ ส่วนที่กำหนดชัดเจนว่ามีเรื่องใดบ้างที่อยู่ภายใต้บังคับของกฎหมายในลักษณะของ “อนุมาตราย่อย” ต้น ๆ (หรือที่เดี๋ยวนี้นักร่างกฎหมายยุคใหม่เขาอ่านว่า “วงเล็บ” แรก ๆ) กับส่วนที่ให้อำนาจแก่ผู้มีอำนาจหน้าที่รักษาการตามกฎหมายหรือปฏิบัติตามกฎหมายไปกำหนดเพิ่มเติมว่าเรื่องใดบ้างที่สมควรอยู่ภายใต้บังคับของกฎหมายนี้ด้วย ซึ่งจะปรากฏในอนุมาตราสุดท้ายหรือวงเล็บสุดท้ายว่า “(..) การอื่นที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด” หรือ “(..) การอื่นที่กำหนดในกฎกระทรวง” เป็นต้น

                   สำหรับสาเหตุที่ต้องใช้วิธีการเขียนแบบ Positive List นี้ก็เพื่อความยืดหยุ่นในการบังคับใช้กฎหมาย เพราะในชั้นที่ตรากฎหมายขึ้นใช้บังคับนั้นเห็นว่ามีกรณีที่ต้องอยู่ภายใต้บังคับนั้นแน่ ๆ สี่ซ้าห้าหกกรณีดังที่กำหนดในอนุมาตราย่อยต้น ๆ แต่โดยที่เล็งเห็นได้ว่าในอนาคตก็อาจมีกรณีอื่น “ในทำนองเดียวกัน” ที่ควรจะต้องกำหนดให้อยู่ภายใต้บังคับของกฎหมายด้วย จึงมีการเขียนอนุมาตราสุดท้ายหรือวงเล็บสุดท้ายไว้ด้วยว่า “(..) การอื่นที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด” หรือ “(..) การอื่นที่กำหนดในกฎกระทรวง” เป็นต้น  ทั้งนี้ เพื่อให้กฎหมายสามารถพัฒนาไปได้โดยสอดคล้องกับสถานการณ์ในอนาคต เพราะถ้าไม่เขียนไว้เช่นนี้ หากต่อไปจะต้องกำหนดให้เรื่องใดอยู่ภายใต้บังคับของกฎหมายนั้นอีก ซึ่งแน่นอนว่าต้องใช้เวลาดำเนินการนาน กว่าถั่วจะสุกงาก็ไหม้เสียแล้ว

                  ทีนี้เมื่อเขียนกฎหมายอย่าง Positive List แล้ว ถามว่าจะตีความกันอย่างไร? รัฐมนตรีจะประกาศกำหนดอย่างไรก็ได้กระนั้นหรือ? กฎกระทรวงจะกำหนดอะไรก็ได้กระนั้นหรือ?
  
                 ดังที่ผู้เขียนได้กล่าวถึงเหตุผลในการใช้วิธีการเขียนแบบ Positive List นี้ก็เพื่อความยืดหยุ่นในการบังคับใช้กฎหมาย เพราะในชั้นที่ตรากฎหมายขึ้นใช้บังคับนั้นเห็นว่ามีกรณีที่ต้องอยู่ภายใต้บังคับนั้นแน่ ๆ สักห้าหกเรื่องที่กำหนดในอนุมาตราย่อยต้น ๆ แต่ก็เล็งเห็นได้ว่าในอนาคตก็อาจมีกรณีอื่น “ในทำนองเดียวกัน” ที่จะต้องกำหนดให้อยู่ภายใต้บังคับของกฎหมายด้วย

                   ดังนั้น การออกประกาศหรือกฎกระทรวงตามอนุมาตราสุดท้ายของ Positive List จึงต้องอยู่ภายใต้ “บริบท” (Context) ของอนุมาตราที่กำหนดชัดเจนไว้แล้วข้างต้น ไม่ใช่จะออกประกาศหรือกฎกระทรวงอย่างไรก็ได้ตามอำเภอใจ

                  การตีความอนุมาตราสุดท้ายของ Positive List ก็เป็นเช่นเดียวกัน ไม่ใช่จะตีความอย่างไรก็ได้ หากแต่ต้องตีความให้สอดคล้องกับอนุมาตราต้น ๆ ที่บัญญัติไว้ชัดเจนแล้วเท่านั้น จะตีความอนุมาตราโดยขยายความไม่ได้ เพราะการตีความโดยขยายความจะทำให้เกิด “ผลที่แปลกประหลาด” โดยจะมีคำถามย้อนกลับมาทันทีว่า แล้วกฎหมายอุตส่าห์จาระไนอนุมาตราก่อน ๆ นี้ไว้เพื่ออะไร หากอนุมาตราสุดท้ายมีความหมายกว้างราวกับมหาสมุทรแปซิกฟิกเช่นนี้

                   หลักการตีความดังกล่าวข้างต้น เป็นหลักพื้นฐานในการตีความกฎหมายอันเป็นสากลและรู้จักทั่วไปว่า “ejusdem generis” สรุปง่าย ๆ ก็คือหากบทบัญญัติของกฎหมายมีถ้อยคำต่อเนื่องกันหรือเรียงลำดับกัน และคำสุดท้ายหรือลำดับสุดท้ายมีความหมายทั่วไป กรณีต้องตีความคำสุดท้ายหรือลำดับสุดท้ายให้มีความหมายในทำนองเดียวกับคำหรือลำดับที่มีมาก่อนเพราะเป็นความเดียวกันหรือต่อเนื่องกัน

                   ดังนี้ จะเห็นได้ว่าการร่างกฎหมายและการตีความกฎหมายนั้นเป็นศาสตร์ ไม่ใช่ศิลป์ เพราะต้องดำเนินการตาม “นิติวิธี” (Juristic method) ที่เป็นสากลบนพื้นฐานของเหตุและผล มิใช่เพียงแค่การใช้ถ้อยคำสำนวนหรือเล่นสำบัดสำนวนโดยไม่มีเหตุผลทางกฎหมาย (Legal reasoning) รองรับ

                  เมื่อเป็นเช่นนี้ ในกรณีตามร่างมาตรา 8 (5) ร่างพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. .... ข้างต้นจึงมิใช่สถานที่ใด ๆ ก็ได้ หากแต่จำกัดเฉพาะสถานที่ 3 ประเภท คือ สถานที่ให้บริการสาธารณะแก่ประชาชน ศาสนสถาน หรือสถานที่ปฏิบัติงานของรัฐต่างประเทศหรือองค์การระหว่างประเทศที่ตั้งอยู่ในประเทศไทยเท่านั้น

                  ท้ายที่สุดผู้เขียนเห็นว่าการให้ความเห็นหรือวิจารณ์ร่างกฎหมายหรือเรื่องต่าง ๆ ของใครต่อใครต่อสาธารณะนั้น ต้องวางอยู่บนพื้นฐานของ “เหตุผลทางวิชาการ” มากกว่าความเชื่อหรือการใช้ถ้อยคำสำนวนเพื่อชวนให้หลงเชื่อ เพราะมิฉะนั้นแล้วการแสดงความคิดความเห็นของท่านจะทำให้สังคมเกิดความสับสน

                  ทำให้สังคมสับสนน่ะไม่เท่าไรหรอก แต่ท่านจะแสดงความรับผิดชอบต่อการกระทำของท่านอย่างไร??

                   ขณะเดียวกัน ผู้เขียนก็เห็นว่านักร่างกฎหมายทุกท่านก็ควรต้องอธิบายเหตุผลเหล่านี้ให้เป็นที่เข้าใจต่อสาธารณะด้วย เขาจะได้เข้าใจ

                   ไม่ใช่เอะอะก็แบบ!!!

                   ข้อมูลอ้างอิง
                   เรื่องเสร็จที่ 163/2519
                   เรื่องเสร็จที่ 174/2520
                   เรื่องเสร็จที่ 393/2524




[1]กรรมการร่างกฎหมายประจำ (นักกฎหมายกฤษฎีกาทรงคุณวุฒิ) สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา (2558) อนึ่ง บทความนี้เป็นความเห็นทางวิชาการของผู้เขียน สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาไม่จำเป็นต้องเห็นพ้องด้วย 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น