วันพุธที่ 25 มีนาคม พ.ศ. 2558

ex ante assessment of regulation & ex post evaluation of legislation

ข้อเสนอเพื่อการปฏิรูปตัวบทกฎหมาย:
การตรวจสอบความจำเป็นในการตรากฎหมายใหม่
และการประเมินความเหมาะสมของกฎหมายที่มีผลใช้บังคับแล้ว

นายปกรณ์ นิลประพันธ์
กรรมการร่างกฎหมายประจำ
(นักกฎหมายกฤษฎีกาทรงคุณวุฒิ)
สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา

                   การปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันเป็นสากลนั้นเป็นการปกครองโดยยึดถือกฎหมาย ทุกคนในสังคมประชาธิปไตยมีหน้าที่ต้องเคารพและปฏิบัติตามกฎหมาย ผู้ใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามกฎหมายย่อมมีความผิดและต้องได้รับโทษ ทั้งนี้ เพื่อรักษาความเป็นอยู่ของรัฐ ตลอดจนความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน กรณีจึงกล่าวได้ว่ากฎหมายนั้นเป็น “นโยบายสาธารณะ” อย่างหนึ่งเพราะมีผลกระทบต่อทุกองคาพยพในสังคม

                   เมื่อเป็นนโยบายสาธารณะ การริเริ่มหรือเสนอให้มีร่างกฎหมายต่าง ๆ นั้นจึงมิได้แตกต่างไปจากการริเริ่มหรือเสนอให้มีนโยบายสาธารณะอื่น ๆ กล่าวคือ การริเริ่มหรือเสนอให้มีร่างกฎหมายนั้นต้อง
·   มีข้อมูลสนับสนุนอย่างชัดเจนและเพียงพอว่าจำเป็นต้องมีกฎหมายนั้นอย่างแท้จริง (sufficient evidence basis) ซึ่งต้องมีการศึกษาเชิงลึกถึงสภาพปัญหาและสาเหตุของปัญหา (problem defined) ทางเลือกต่าง ๆ ในการแก้ไขปัญหานั้นนอกจากมาตรการทางกฎหมาย (alternative solutions) และต้องมีการปรึกษาหารืออย่างใกล้ชิดกับผู้มีส่วนได้เสีย (stakeholders consultation) ทุกกลุ่ม
· สามารถอธิบายได้ว่ากลไกที่จะกำหนดไว้ในร่างกฎหมายนั้นมีความเหมาะสมกับเรื่อง (suitable legal mechanism) หรือไม่ จะสามารถใช้บังคับได้อย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลภายใต้บริบทของสังคมไทย (Thai context) ได้อย่างไร และตัวชี้วัดความสัมฤทธิ์ผล (Key Performance Indicators) ของร่างกฎหมายนั้นคืออะไร
·   มีความคุ้มค่าเมื่อพิจารณาต้นทุนในการจัดทำและบังคับการให้เป็นไปตามกฎหมายของภาครัฐ (compliance cost) และต้นทุนในการปฏิบัติการให้เป็นไปตามกฎหมายของประชาชน (administrative cost) เปรียบเทียบกับประโยชน์ที่จะได้รับจากกฎหมายนั้น (cost-benefit relationships)

                   ดังนี้ การริเริ่มหรือเสนอให้มีร่างกฎหมายใด ๆ นั้นจึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องผ่านกระบวนการตรวจสอบ “อย่างเคร่งครัด” และ “โดยละเอียด” เสียก่อนเพื่อประเมินความจำเป็นว่ามีความจำเป็นต้องมีกฎหมายนั้นจริงหรือไม่ และต้องกระทำก่อนที่จะมีการเสนอร่างกฎหมายทุกฉบับต่อฝ่ายบริหารหรือคณะรัฐมนตรีเพื่อประกอบการพิจารณาให้ความเห็นชอบในหลักการว่าสมควรจะมีกฎหมายเช่นว่านั้นหรือไม่ (ex ante assessment)

                   หาไม่แล้วกฎหมายที่จะตราขึ้นนั้นจะลิดรอนหรือจำกัดเสรีภาพของประชาชนโดยไม่จำเป็น สร้างต้นทุนแก่รัฐในการตราและบังคับการให้เป็นไปตามกฎหมายในเรื่องที่รัฐไม่จำเป็นต้องเข้าไปยุ่งเกี่ยว โดยเฉพาะงบรายจ่ายประจำซึ่งเพิ่มสูงขึ้นทุกปี รวมทั้งเป็นอุปสรรคต่อการแข่งขันของภาคเอกชนรวมทั้งความสามารถในการแข่งขันของประเทศในเวทีโลก

                   ประเทศไทยวางหลักเกณฑ์การตรวจสอบความจำเป็นในการตรากฎหมายนี้ขึ้นแล้วตามระเบียบว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการเสนอเรื่องต่อคณะรัฐมนตรี พ.ศ. 2548 ซึ่งออกตามความในพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการเสนอเรื่องและการประชุมคณะรัฐมนตรี พ.ศ. 2548 และมีการจัดทำคู่มือการตรวจสอบความจำเป็นในการตรากฎหมายเผยแพร่เป็นการทั่วไปด้วย

                   อย่างไรก็ดี โดยที่หลักเกณฑ์การตรวจสอบความจำเป็นในการตรากฎหมายตามระเบียบว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการเสนอเรื่องต่อคณะรัฐมนตรี พ.ศ. 2548 มีลักษณะเป็นเพียงแนวปฏิบัติภายในของฝ่ายบริหาร หน่วยงานของรัฐจึงมิได้ดำเนินการตรวจสอบความจำเป็นในการตรากฎหมายกันอย่างจริงจัง หากทำเพื่อให้ครบขั้นตอนในการเสนอร่างกฎหมายต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาเท่านั้น  

                   นอกจากนี้ กฎหมายที่เสนอโดยผู้มีสิทธิเสนอกฎหมายอื่นนอกจากคณะรัฐมนตรี เช่น สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร องค์กรตามรัฐธรรมนูญ หรือประชาชน ก็ไม่ผูกพันที่จะต้องตรวจสอบความจำเป็นในการตรากฎหมายตามหลักเกณฑ์ดังกล่าวด้วยทั้งที่เป็นการริเริ่มหรือเสนอนโนบายสาธารณะที่มีผลกระทบต่อประชาชนทุกคนเช่นกัน

                   อีกประการหนึ่ง การวิเคราะห์ผลการตรวจสอบความจำเป็นในการตรากฎหมายนั้นต้องดำเนินการอย่างจริงจัง “ก่อน” ที่จะมีการเสนอร่างกฎหมายต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบในหลักการของร่างกฎหมาย แต่ปัจจุบันยังไม่มีหน่วยงานใดได้รับมอบหมายให้ทำหน้าที่เป็นหน่วยตรวจสอบคุณภาพ (Quality Control Unit) ของผลการตรวจสอบความจำเป็นในการตรากฎหมายชัดเจน แม้ในทางปฏิบัติสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาจะมีการวิเคราะห์ความจำเป็นในการตรากฎหมายที่หน่วยงานของรับเสนอมาพร้อมกับร่างกฎหมายด้วย แต่ก็เป็นการวิเคราะห์ “ภายหลัง” จากที่คณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบในหลักการของร่างกฎหมายอันเป็นการตัดสินใจในทางนโยบาย (Policy approval) ว่าให้มีร่างกฎหมายนั้นไปแล้ว สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาจึงทำได้เพียงเสนอต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาทบทวนว่าไม่ควรมีกฎหมายนั้นซึ่งไม่สอดคล้องกับขั้นตอนในการตัดสินใจทางนโยบายของคณะรัฐมนตรี ทั้งยังเป็นการเสียเวลาโดยใช่เหตุ

                   หากมีการตรวจสอบความจำเป็นในการตรากฎหมายอย่างเข้มข้น นอกจากจะทำให้ได้มาซึ่งร่างกฎหมายที่มีคุณภาพและตอบสนองต่อความต้องการของสังคมส่วนใหญ่แล้ว ยังทำให้การตรวจพิจารณาร่างกฎหมายของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเป็นไปอย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพมากขึ้นด้วย เพราะไม่ต้องย้อนกลับมาพิจารณาความเหมาะสมของร่างกฎหมายนั้นอีก

                   สำหรับกฎหมายที่มีการตราขึ้นใช้บังคับแล้วนั้น ในปัจจุบันถือว่าการพิจารณาทบทวนความเหมาะสมของกฎหมายนั้นเป็นดุลพินิจของผู้รักษาการตามกฎหมายนั้น ๆ ซึ่งแน่นอนว่าเป็นการพิจารณาตามข้อเสนอแนะของข้าราชการประจำ แต่โดยที่ข้าราชการประจำส่วนใหญ่มีทัศนคติยึดติดกับกฎระเบียบดั้งเดิมเนื่องจากกลัวการเปลี่ยนแปลง (fear of change) จึงเป็นการยากที่จะเสนอให้ผู้รักษาการตามกฎหมายปรับปรุงกฎหมายในความรับผิดชอบให้ทันสมัย เว้นแต่เป็นการเพิ่มอำนาจหน้าที่หรือขยายขนาดขององค์กร อีกทั้งระบบการเมืองที่ไม่ค่อยมีเสถียรภาพทำให้ผู้รักษาการตามกฎหมายไม่ประสงค์ที่จะริเริ่มให้มีการ “สังคายนา” กฎหมายในความรับผิดชอบเนื่องจากต้องอาศัยเสียงข้างมากในสภา  ดังนี้ กฎหมายไทยจำนวนมากจึงมีบทบัญญัติที่ไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วโดยผลของพัฒนาการของเทคโนโลยีสารสนเทศ และเมื่อกฎหมายไทยหยุดอยู่กับที่ ในขณะที่ประเทศอื่นพัฒนากฎหมายในเรื่องเดียวกันไปแล้ว กฎหมายไทยจำนวนมากจึงกลายเป็นอุปสรรคต่อความสามารถในการแข่งขันของประเทศในเวทีการค้าโลก และไม่ยืดหยุ่นต่อสถานการณ์อื่น ๆ ที่เปลี่ยนแปลงไป

                   ด้วยเหตุผลดังกล่าวข้างต้น ผู้เขียนจึงมีข้อเสนอดังนี้

                   (1) สมควรตรากฎหมายกลางขึ้นเพื่อกำหนดให้ผู้มีสิทธิเสนอกฎหมาย “มีหน้าที่” ต้องวิเคราะห์ผลการตรวจสอบความจำเป็นในการตรากฎหมายของร่างกฎหมายที่จะเสนอทุกฉบับ ยกเว้นร่างกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการกำหนด การขึ้น หรือการลดภาษีอากรอันเป็นเรื่องที่มีความจำเป็นเร่งด่วนและอาจก่อให้เกิดความได้เปรียบเสียเปรียบกันขึ้น และต้องเสนอรายงานผลการตรวจสอบความจำเป็นในการตรากฎหมายนั้นไปพร้อมกับร่างกฎหมายที่เสนอต่อหน่วยตรวจสอบคุณภาพ (Quality Control Unit) ของร่างกฎหมายและรายงานผลการตรวจสอบความจำเป็นในการตรากฎหมาย ก่อนนำเสนอคณะรัฐมนตรีหรือรัฐสภาเพื่อพิจารณาความเหมาะสมหรือจำเป็นที่ต้องมีกฎหมายนั้นก่อนพิจารณาอนุมัติในหลักการของร่างกฎหมาย

                   (2) สมควรปรับปรุงกฎหมายว่าด้วยคณะกรรมการกฤษฎีกาเพื่อกำหนดให้ “คณะกรรมการพัฒนากฎหมาย สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา” อันเป็นองค์กรที่มีอยู่แล้วทำหน้าที่ในเชิงรุกเพื่อสนับสนุนการตัดสินใจทางนโยบายเกี่ยวกับกฎหมายของคณะรัฐมนตรี โดยให้ทำหน้าที่เป็นหน่วยตรวจสอบคุณภาพ (Quality Control Unit) ของร่างกฎหมายและรายงานผลการตรวจสอบความจำเป็นในการตรากฎหมายทุกฉบับก่อนเสนอต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณา ยกเว้นร่างกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการกำหนด การขึ้น หรือการลดภาษีอากร

                   (3) ไม่ควรให้การพิจารณาทบทวนความเหมาะสมของกฎหมายนั้นเป็นดุลพินิจของผู้รักษาการตามกฎหมายอีกต่อไป โดยสมควรตรากฎหมายกลางขึ้นเพื่อกำหนดให้ผู้รักษาการตามกฎหมายทุกฉบับพิจารณาทบทวนความเหมาะสมของกฎหมายทุกรอบระยะเวลา 5 ปี นับแต่วันที่กฎหมายนั้นมีผลใช้บังคับเพื่อปรับปรุงกฎหมายให้สอดคล้องกับพลวัตรของโลก (ex post evaluation of legislation) และให้ “คณะกรรมการพัฒนากฎหมาย สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา” อันเป็นองค์กรที่มีอยู่แล้วทำหน้าที่เป็นหน่วยตรวจสอบคุณภาพผลการทบทวนความเหมาะสมของกฎหมาย และให้มีการเปิดเผยผลการพิจารณาทบทวนนั้นต่อสาธารณะและต่อรัฐสภาด้วย

                   ท้ายที่สุดนี้ ผู้เขียนใคร่ขอนำข้อเสนอแนะของ UK Department for Business, Innovation and Skills ใน “Better Regulation Framework Manual – Practical Guidance for UK Government Officials (2013) มาเผยแพร่ต่อว่า ผู้ริเริ่มหรือเสนอให้มีร่างกฎหมายต่าง ๆ นั้นต้องเข้าใจในเบื้องต้นก่อนว่ากฎหมายนั้นไม่ใช่คำตอบของทุกปัญหา เพราะคนมักจะพูดว่าเรื่องนี้ที่เป็นปัญหานี้ยังไม่มีกฎหมายหรือกฎหมายมีช่องโหว่เพราะเป็นการพูดที่ง่าย ๆ แต่การเสนอกฎหมายนั้นมีผลกระทบในหลากหลายมิติ จึงไม่ใช่เอาง่ายเข้าว่า หากแต่ต้องมีเหตุผล ข้อมูล และหลักฐานประกอบข้อกล่าวอ้างอย่างหนักแน่น (substantive evidence) และต้องพิจารณาให้ละเอียดรอบคอบก่อนว่ามีทางเลือกอื่นใดในการแก้ไขปัญหาหรือไม่ อะไรบ้าง และต้องแสดงต่อสาธารณะให้เห็นได้ว่าต้นทุนและประโยชน์ที่จะได้รับจากกฎหมาย (costs-benefits) นั้นเป็นอย่างไร คุ้มค่าหรือไม่ สามารถอธิบายผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นจากการมีกฎหมายทั้งในระยะกลาง (intermediate outcomes) และผลลัพธ์สุดท้าย (final outcomes) ได้อย่างชัดเจน และถ้าเป็นกฎหมายที่เกี่ยวกับการประกอบธุรกิจ ท่านต้องเข้าใจผลกระทบที่มีต่อต้นทุนในการประกอบธุรกิจของผู้ประกอบการในระดับต่าง ๆ ทั้งขนาดเล็ก ขนาดกลาง และขนาดใหญ่เป็นอย่างดี และมีมาตรการรองรับที่เหมาะสมด้วย.


                   

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น