วันจันทร์ที่ 16 มกราคม พ.ศ. 2560

ว่าด้วยวิธีคิด โดยนายปกรณ์ นิลประพันธ์

ทุกวันนี้ผมพบว่าผู้คนในสังคมจำนวนมากเกิดความตระหนักว่าประเทศของเรามีปัญหาต่าง ๆ ที่ต้องปรับแก้ไขอย่างเร่งด่วนมากมาย หลายคนออกมาช่วยเสนอแนะทางแก้ปัญหาซึ่งผมเองเห็นว่าเป็นประโยชน์ต่อสังคมมากกว่าการออกมาตำหนิติเตียนกัน กล่าวหากัน หรือเอาแต่ให้ร้ายกันอย่างแต่ก่อน

ผมเป็นส่วนหนึ่งของกระแสนี้ และขอแบ่งปันวิธีการคิดวิเคราะห์แบบของผมกับทุกท่านเพื่อจะได้ช่วยกันพัฒนาสังคมของเราให้ดียิ่ง ๆ ขึ้นไป

เนื่องจากผมเป็นนักกฎหมาย วิธีการคิดวิเคราะห์ของผมจึงอิงอยู่กับวิธีการคิดทางนิติศาสตร์ ซึ่งตามหลักกฎหมายเปรียบเทียบนั้นเราจะเปรียบเทียบเฉพาะในสิ่งที่เปรียบเทียบกันได้ ซึ่งนำมาจากหลักการรักษาคนไข้ของแพทย์ที่ว่า similia similibus curantur อันว่าอาการของโรคอย่างเดียวกันเท่านั้น จึงจะใช้วิธีรักษาหรือยาอย่างเดียวกันได้

เหตุที่ถือหลักการนี้เพราะในแต่ละประเทศหรือในแต่ละสังคมนั้นมีบริบท (context) ของตนเอง มันดูคล้ายกันก็จริง แต่ไม่เหมือนกันในรายละเอียด คนในแต่ละสังคมมีประวัติศาสตร์ ความเป็นมา ขนบธรรมเนียม ประเพณี วัฒนธรรม วิถีชีวิต วิธีคิด สภาพแวดล้อม ฯลฯ ต่างกัน ดังนั้น เราจึงไม่อาจ "ลอก" วิธีการแก้ไขปัญหาของสังคมอื่นมาใช้กับสังคมไทยได้แบบเหมือนเป๊ะ ๆ อย่างที่ใคร ๆ ชอบพูดกันว่าเรื่องนี้ฝรั่งมี เรื่องนี้ญี่ปุ่นมี ไทยเราก็ต้องมีอย่างเขาบ้าง เป็นต้น

ยกตัวอย่างปัญหาจราจร ฝรั่งกับญี่ปุ่นมีกฎหมายจราจรเหมือนกับเรา และเรามีกฎและอาณัติสัญญาณต่าง ๆ เหมือนกับสากลโลก แต่คนของเขามีวินัยและเคารพกฎหมายจราจรเพราะถูกอบรมสั่งสอนมาว่าเป็นเรื่องความปลอดภัยของส่วนรวม ถนนเป็นสถานที่ที่คนใช้ร่วมกัน ไม่ใช่สถานที่ส่วนบุคคล ปัญหาขับปาดซ้ายป่ายขวาฝ่าไฟแดง ดื่มแล้วขับ ขับขี่ย้อนศร ไม่หยุดรถให้คนข้ามทางม้าลาย จอดในที่ห้ามจอด ฯลฯ จึงมีน้อย ขณะที่คนของเราหย่อนระเบียบวินัย คิดถึงแต่ประโยชน์ส่วนตัวมากกว่าประโยชน์ส่วนรวม ปัญหาจราจรบ้านเราจึงแก้ยากกว่าของชาวบ้านเขา เพราะต้องแก้ที่จิตสำนึก ไม่ใช่แค่แก้กฎหมาย หรือแก้ที่ผู้บังคับการตามกฎหมาย

อีกตัวอย่างของการขาดความรับผิดชอบคือเราจะโทษคนอื่นไว้ก่อน ไม่แม้แต่จะคิดว่าสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นผลมาจากการกระทำของตัวเอง บ้านเราจึงไม่มีวัฒนธรรม "ลาออกเพื่อแสดงความรับผิดชอบ" หรือแม้กระทั่งการแสดงความสำนึกผิดในการกระทำที่เป็นผลร้ายต่อสังคม

ดังนั้น การเสนอแนวทางในการแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ตามวิธีการของนักกฎหมายจึงต้องเริ่มจากการทำความเข้าใจคนไทยและสังคมไทยก่อนว่ามีความเป็นมาเป็นไปอย่างไรจึงมาถึงจุดนี้ได้ ซึ่งในทางกฎหมายเราเรียกว่าเป็นการศึกษาความเป็นมาทางประวัติศาสตร์ (Historical Approach) และต้องวิเคราะห์ว่าบริบทของเราต่างจากบริบทของคนอื่นอย่างไร แล้วคนของเรามีทัศนคติหรือความคิดเห็นในปัญหานั้นอย่างไร จึงจะหาทางแก้ไขปัญหาที่เหมาะสมกับบริบทของเราได้ ถ้าไม่ทราบเรื่องนี้ การแก้ไขปัญหาจะทำได้โดยยาก ยิ่งถ้าแก้ปัญหาโดยไปลอกวิธีการของฝรั่งที่มีบริบทแตกต่างจากเราอย่างสิ้นเชิงมาใช้ในการแก้ปัญหา จะยิ่งไปกันใหญ่

หลักกฎหมายเปรียบเทียบนี้สอดรับกันได้พอดีกับศาสตร์ของพระราชา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ที่ว่า "เข้าใจ -> เข้าถึง -> พัฒนา"

มาช่วยกันคิด ช่วยกันทำ อย่างมีเหตุมีผล เพื่อพัฒนาประเทศกันเถิดครับ.


1 ความคิดเห็น:

  1. เป็นกำลังใจให้คิดเพื่อพัฒนาชาติ บ้านเมือง ต่อไปครับ

    ตอบลบ