วันศุกร์ที่ 24 มีนาคม พ.ศ. 2560

วิชาความคิดสร้างสรรค์ โดย นายปกรณ์ นิลประพันธ์

ผมไม่ได้เรียนกับศาสตราจารย์ Tina Seelig ซึ่งเป็น Executive Director of Stanford Technology Ventures Program มหาวิทยาลัย Stanford โดยตรง แต่อาศัยเรียนกับเธอผ่านการถ่ายทอดสดรายการ First Class ทาง NHK World TV

ผมว่าเธอสอนสนุกดีและมีประโยชน์มาก น่าเสียดายเป็นรายการกึ่ง ๆ วิชาการ ไม่สวมหน้ากาก ไม่มีตบจูบ ไม่มีบทยิงกันสนั่นจอราวกับบ้านเมืองไม่มีขื่อมีแป ไม่มีบทตบตีแย่งเมียชิงผัวกัน ไม่มีฉากบนเตียง ไม่มีดราม่า ไม่มีพูดมึงพูดกูออกอากาศ ที่สำคัญสอนเป็นภาษาอังกฤษ เลยไม่เป็นที่รู้จักในบ้านเรา

เมื่อวันก่อนเธอสอนเรื่อง Creativity ผมว่าน่าสนใจจึงคิดว่าสรุปมาแบ่งปันกันดีกว่า เผื่อเป็นไอเดียในยุคปฏิรูปที่ทุกภาคส่วนในสังคมต้องร่วมกันคิด ร่วมกันลงมือทำสิ่งต่าง ๆ เพื่อลูกเพื่อหลานไทยในเจนเนอเรชั่นถัด ๆ ไป

ในเรื่องความคิดสร้างสรรค์ (Creativity) Professor Seelig บอกว่ามันเป็นสิ่งที่ก่อให้เกิดนวัตกรรม (Innovation) ถ้าไม่มีความคิดสร้างสรรค์ นวัตกรรมไม่เกิด เรื่องนี้ผมเห็นด้วยอย่างยิ่ง ถ้าคิดจะให้มีนวัตกรรม ก็ต้องสร้างบรรยากาศที่ส่งเสริมให้มีความคิดสร้างสรรค์ก่อน ไม่งั้นคงไปต่อยาก เพราะทุกอย่างจะวนอยู่ในกรอบคิดเดิม ๆ ทำแบบเดิม ๆ ร่ำไป บรรยากาศไม่ดี สุนทรีย์ไม่เกิด อะไรทำนองนั้น

Professor Serling ให้ความเห็นว่าสิ่งที่จะกล่าวถึงต่อไปนี้เป็นองค์ประกอบสำคัญของคนมีความคิดสร้างสรรค์ (1) ช่างสังเกต (Observation) - ช่างสังเกตกับช่างเผือกนี่ต่างกันนะครับ ต้องแยกแยะให้ดี และ (2) ชอบความท้าทาย (Challenge assumption)

สำหรับปัจจัยที่จะผลักดันให้คนมีความคิดสร้างสรรค์นั้น เธอยกตัวอย่างสภาพแวดล้อม (Space) เช่น ตอนเรียนอนุบาลเด็ก ๆ จะมีพื้นที่รอบตัวกว้างมาก มีสนามเด็กเล่น มีสีสัน มีอะไรให้สมองพัฒนามาก พอเรียนสูงขึ้นไปพื้นที่สำหรับเรื่องเหล่านี้จะแคบลงเรื่อย ๆ จนสุดท้ายเหลือแค่โต๊ะเลคเชอร์เล็ก ๆ พับได้ในห้องบรรยายสี่เหลี่ยมที่ไม่มีสีสรร แถมพอจบออกไปทำงาน modern office ก็จัดเป็นล๊อก ๆ แคบ ๆ หน้าตาเหมือนกันทุกล๊อกชวนหดหู่อีก ซึ่งมาพร้อมกับกฎระเบียบแบบแผนร้อยแปดพันประการที่ต้องปฏิบัติตาม เมื่อสภาพแวดล้อมเป็นอย่างนี้ใครมันจะไปคิดอะไรใหม่ ๆ ออก แค่ทำตาม ๆ job description และกฎระเบียบก็ได้เงินเดือนไปใช้ง่าย ๆ แล้ว จะต้องไปคิดอะไรกันไปทำไม บริษัทใหญ่ ๆ เขาเห็นความสำคัญในเรื่องนี้ เขาจึงพัฒนาสภาพแวดล้อมในการทำงานเพื่อส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์ของพนักงาน ยิ่งพนักงานมีพลังสร้างสรรค์ การทำงานยิ่งมีประสิทธิภาพ

นอกจากสภาพแวดล้อม หัวหน้าก็เป็นปัจจัยสำคัญเธอว่า ลองไปเจอหัวหน้าบ้าอำนาจเข้า ความอยากคิดอะไรใหม่ ๆ เป็นไม่มี เพราะคิดไปก็เท่านั้น

เรื่องเวลาก็สำคัญ เธอว่าจะเอาความคิดสร้างสรรค์มันคงต้องใช้เวลาบ้าง กว่ามันจะแล่บออกมาได้ หรือกว่าจะลองผิดลองถูกเสร็จ มีคนเปรียบเทียบว่าง่ายเหมือนบะหมี่สำเร็จรูป แต่ลองไปอ่านประวัติการพัฒนาบะหมี่สำเร็จรูปดูสิครับ ท่านจะพบว่ามันไม่ง่ายเลยที่จะทำให้บะหมี่สำเร็จรูปเกิดขึ้นมาในโลกนี้ได้

ปัจจัยอีกประการหนึ่งที่เธอกล่าวถึงคือทีมงานและองค์กรต้องมีวัฒนธรรมที่พร้อมจะยอมรับและทดลองสิ่งใหม่ ไม่ใช่สักคิดแต่ว่าของเก่ามันดีอยู่แล้วตะพึดไป มันจะดีตลอดกาลไม่ได้เพราะโลกมันหมุนไปข้างหน้า โดยส่วนตัว ผมเห็นว่าความคิดแบบนี้ส่วนหนึ่งน่าจะเป็นผลมาจากสภาพแวดล้อมที่เธออธิบายมาข้างต้น เรามี Space ที่จำกัดลงเรื่อย ๆ ในชีวิต เราจึงอยู่แต่ใน Space ของเรา หวงแหนและไม่อยากให้ใครเข้ามาใน Space ของเรา พูดง่าย ๆ ก็คือไม่อยากเปลี่ยนแปลงใด ๆ (จริง ๆ ตอนฟังที่เธอบรรยายใจผมมันแปลคำว่า Space ตรงนี้ว่า "กะลา" โดยไม่ได้ตั้งใจ)

ในประเด็นนี้ Professor Seelig บอกว่าไม่ใช่ว่าความคิดสร้างสรรค์ทุกเรื่องมันจะสำเร็จตามเป้าหมาย แต่การได้ทดลองทำสิ่งใหม่ ๆ ที่แตกต่างไปจากเดิม แม้มันจะไม่เป็นไปตามเป้า แต่การยอมรับความผิดพลาดมันจะช่วยทำให้ทีมและคนในองค์กรเกิดการเรียนรู้จากความผิดพลาดนั้นและพัฒนาขึ้น ไม่หยุดอยู่ที่เดิม และเป็นธรรมชาติที่คนปกติที่จะไม่ทำผิดพลาดซ้ำอีก Seelig ย้ำว่าความล้มเหลวเป็นองค์ประกอบที่สำคัญอย่างยิ่งในกระบวนการสร้างสรรค์ ไม่มีความคิดสร้างสรรค์ใดสำเร็จได้โดยไม่ล้มลุกคลุกคลานกันมาก่อน ถ้าว่ากันแบบไทย ๆ ก็คือผิดเป็นครูนั่นเอง

นอกจากเรื่องสภาพแวดล้อม ทีมงาน เวลา วัฒนธรรมองค์กรแล้ว Seelig ให้ความสำคัญอย่างมากต่อทัศนคติ (Attitude) ที่เชื่อมั่นว่า "ทุกคนทำได้" (You could) การให้ความเชื่อมั่นและไว้วางใจกัน รวมทั้งให้กำลังใจกันจึงเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่ง ไม่ใช่เอาแต่โทษนั่นโทษนี่เรื่อยไป

ตอนจบรายการเธอไม่ได้สรุปอะไร แต่ให้นักเรียนนักศึกษาหนุ่มสาวในห้องวิ่งไปหาเพื่อน 2 คน ใน 2 นาที เพื่อเขียนในกระดาษ post-it ว่าพวกเขาได้อะไรจากคลาสในวันนี้

ภาพสุดท้ายของรายการนี้ตัดไปที่ post-it ใบหนึ่ง บนนั้นเขียนว่า

"Impossible is nothing" ครับ.










ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น