วันพุธที่ 8 มีนาคม พ.ศ. 2560

อำนาจหน้าที่ขององค์กรการตรวจเงินแผ่นดิน : ฝรั่งเศสและอังกฤษ โดย นางสาวอนัญ ยศสุนทร สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา

                                                                     โดย นางสาวอนัญ ยศสุนทร[๑]

อำนาจหน้าที่ขององค์กรการตรวจเงินแผ่นดินอาจมีความแตกต่างกันตามบริบททางการเมือง กฎหมาย และสภาพสังคมของแต่ละประเทศ อย่างไรก็ดี องค์การตรวจเงินแผ่นดินระหว่างประเทศ (International Organisation of Supreme Audit Institutions หรือ INTOSAI)[๒] ได้มีการจัดทำปฏิญญาลิมาว่าด้วยแนวปฏิบัติในการตรวจเงินแผ่นดินหรือ “Lima Declaration of Guidelines on Auditing Precepts” เพื่อกำหนดแนวปฏิบัติที่ดีสำหรับการตรวจเงินแผ่นดิน โดยในปฏิญญาดังกล่าวได้มีการกำหนดหลักเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ขององค์กรการตรวจเงินแผ่นดินไว้ในมาตรา ๔ ว่าด้วยการตรวจสอบความชอบด้วยกฎหมาย ความถูกต้อง และผลการดำเนินงาน (Legality audit, regularity audit and performance audit) ว่า หน้าที่ดั้งเดิมขององค์กรการตรวจเงินแผ่นดินคือการตรวจสอบความชอบด้วยกฎหมายและการตรวจสอบความถูกต้องของการบริหารการเงินและการบัญชี นอกเหนือจากการตรวจสอบดังกล่าวแล้ว ยังมีการตรวจสอบในอีกลักษณะหนึ่งซึ่งมีความสำคัญไม่น้อยกว่ากัน ได้แก่ การตรวจสอบผลการดำเนินงาน ซึ่งมุ่งเน้นการตรวจสอบผลสัมฤทธิ์ ความคุ้มค่า ประสิทธิภาพ และประสิทธิผลของการบริหารงานภาครัฐ การตรวจสอบการดำเนินงานดังกล่าวไม่ได้ครอบคลุมเพียงแค่การบริหารทางการเงินเท่านั้นแต่ครอบคลุมกิจกรรมของรัฐบาลทั้งหมด ไม่ว่าในเชิงโครงสร้างหรือระบบการบริหารราชการ  ทั้งนี้ การตรวจสอบทั้งสามรูปแบบต่างมีความสำคัญเสมอกัน อย่างไรก็ดี แต่ละองค์กรอาจกำหนดลำดับความสำคัญให้เหมาะสมแก่กรณีได้

สำหรับกรณีขององค์กรการตรวจเงินแผ่นดินของสมาชิกสหภาพยุโรป ตามรายงานศึกษาของ National Audit Office[๓] ได้มีการแบ่งอำนาจในการตรวจสอบขององค์การตรวจเงินแผ่นดินออกเป็น ๒ ลักษณะ ได้แก่

๑. การตรวจสอบก่อนจ่าย (A priori Audit) องค์กรการตรวจเงินแผ่นดินของบางประเทศมีอำนาจในการอนุมัติหรือให้ความเห็นเกี่ยวกับการจ่ายเงิน โดยถือเป็นหนึ่งในกระบวนการควบคุมทางการเงิน เช่น องค์กรการตรวจเงินแผ่นดินอาจได้รับเอกสารเกี่ยวกับการเบิกจ่ายเงินและตรวจสอบความถูกต้องของการเบิกจ่ายเงินดังกล่าว รวมถึงว่ามีงบประมาณเพียงพอสำหรับการเบิกจ่ายดังกล่าวหรือไม่ เป็นต้น

๒. การตรวจสอบหลังจ่าย (Ex post Audit) อาจแบ่งออกเป็น ๓ กรณี ได้แก่

    ๒.๑ การตรวจสอบซึ่งองค์กรการตรวจเงินแผ่นดินมีอำนาจในการลงโทษ (Judicial audit) ได้แก่ การพิจารณาและวินิจฉัยหรือพิพากษาเกี่ยวกับการกระทำผิดเกี่ยวกับการใช้จ่ายหรือการดูแลรักษาเงินแผ่นดินของผู้ซึ่งกฎหมายได้กำหนดให้มีความรับผิดไว้เป็นการเฉพาะ เช่น กรณีของประเทศฝรั่งเศสและเบลเยี่ยม เป็นต้น

    ๒.๒ การตรวจสอบทางการเงินหรือทางบัญชี (Financial audit) ได้แก่ การตรวจสอบบัญชีของรัฐบาลหรือของหน่วยงานของรัฐ เพื่อเสนอแนะต่อรัฐสภา โดยอาจจะเป็นการรับรองงบการเงินว่าเป็นไปตามความจริงและแสดงให้เห็นถึงสถานะการเงินของหน่วยงานอย่างแท้จริงหรือไม่ หรืออาจจะเป็นการตรวจสอบความถูกต้องของการใช้จ่ายเงินแผ่นดิน เป็นต้น ซึ่งองค์กรการตรวจเงินแผ่นดินของทุกประเทศจะมีการตรวจสอบทางการเงินหรือทางบัญชี แม้รูปแบบอาจจะแตกต่างกัน

    ๒.๓ การตรวจสอบการดำเนินงาน ได้แก่ การตรวจสอบการดำเนินงานในภาพรวมว่าได้มีการใช้จ่ายเงินแผ่นดินไปอย่างมีประสิทธิภาพ ประสิทธิผล และคุ้มค่าหรือไม่ โดยเกือบทุกประเทศของสหภาพยุโรปมีการตรวจสอบการดำเนินงาน อย่างไรก็ดี รูปแบบและขอบเขตอาจจะมีความแตกต่างกัน เช่น ในกรณีประเทศฝรั่งเศส จะมีการประเมินผลการดำเนินนโยบายสาธารณะ (Evaluation) ซึ่งไม่ได้เป็นเพียงการพิจารณาในแง่ความมีประสิทธิภาพ ประสิทธิผล และความคุ้มค่าเท่านั้น แต่ยังพิจารณาว่านโยบายสาธารณะบรรลุวัตถุประสงค์ตามที่ได้มีการตั้งเป้าหมายไว้หรือไม่ และมีผลกระทบทั้งในแง่ดีและเสียอย่างไรบ้าง

อำนาจการตรวจสอบขององค์กรการตรวจเงินแผ่นดินในสหภาพยุโรป[๔]


การตรวจก่อนจ่าย
(A priori audit)




การตรวจสอบโดยมีอำนาจในการวินิจฉัยลงโทษ (Judicial)
การตรวจหลังจ่าย
(Ex post audit)

การตรวจสอบทางการเงินหรือทางบัญชี (Financial)



การตรวจสอบการดำเนินงาน(Performance)
ออสเตรีย
-
-
เบลเยี่ยม
ไซปรัส
-
-
สาธารณรัฐเช็ก
-
-
เดนมาร์ก
-
-
เอสโตเนีย
-
-
ฟินแลนด์
-
-
ฝรั่งเศส
-
เยอรมนี
-
กรีซ
-
ฮังการี
-
-
ไอร์แลนด์
-
-
อิตาลี
ลัตเวีย
-
-
ลิทัวเนีย
-
-
ลักเซมเบิร์ก
-
-
มอลตา
-
-
เนเธอร์แลนด์
-
-
โปแลนด์
-
-
โปรตุเกส
สโลวาเกีย
-
-
สโลเวเนีย
-
-
สเปน
-
สวีเดน
-
-
สหราชอาณาจักร
-
-
ศาลตรวจเงินแผ่นดินของสหภาพยุโรป
-
-

ในบทความนี้ ผู้เขียนมุ่งศึกษาขอบเขตอำนาจหน้าที่ขององค์กรการตรวจเงินแผ่นดินเฉพาะของ ๒ ประเทศ อันได้แก่ ประเทศฝรั่งเศสและประเทศอังกฤษ

๑. ประเทศฝรั่งเศส

องค์กรการตรวจเงินแผ่นดินของประเทศฝรั่งเศส ประกอบด้วย ๓ องค์กรหลัก ได้แก่ ศาลบัญชี (La Cour des comptes) ศาลบัญชีภาค (Les Chambres régionales et territoriales des comptes) จำนวน ๑๘ แห่ง และศาลวินัยทางงบประมาณและการคลัง (La Cour de discipline budgétaire et financière) โดยบทบัญญัติที่เกี่ยวข้องกับศาลตรวจเงินแผ่นดินได้มีการกำหนดไว้ในประมวลกฎหมายศาลตรวจเงินแผ่นดิน  (Code des juridictions financières) ซึ่งประมวลกฎหมายดังกล่าวกำหนดให้ศาลบัญชีและศาลบัญชีภาคมีอำนาจในการพิจารณาบัญชีของสมุห์บัญชี (Comptable หรือ accountant) ซึ่งเป็นผู้มีหน้าที่รับและเบิกจ่ายเงินแผ่นดิน รวมถึงตรวจสอบการดำเนินงานของหน่วยงานของรัฐว่าเป็นไปอย่างคุ้มค่า มีประสิทธิภาพ และมีประสิทธิผลหรือไม่ ส่วนศาลวินัยทางงบประมาณและการคลังนั้น มีอำนาจในการพิพากษาผู้มีอำนาจในการสั่งจ่ายเงินแผ่นดิน (Ordonnateurs หรือ authorizing person) 

๑.๑ ศาลบัญชีและศาลบัญชีภาค

ปัจจุบัน มีองค์กรที่อยู่ภายใต้การตรวจสอบของศาลบัญชี จำนวน ๑,๔๘๕ แห่ง และองค์กรที่อยู่ภายใต้การตรวจสอบของศาลบัญชีภาค จำนวน ๑๗,๑๐๕ แห่ง[๕] โดยศาลบัญชีและศาลบัญชีภาคมีหน้าที่หลัก ๓ ประการ ได้แก่ การตรวจสอบและพิพากษาบัญชีของสมุห์บัญชี การตรวจสอบการดำเนินงาน และการรับรองรายงานการเงินของรัฐ  ทั้งนี้ มาตรา L. 111-3 แห่งประมวลกฎหมายศาลตรวจเงินแผ่นดิน ได้กำหนดให้อำนาจศาลบัญชีในการขอเอกสารและเข้าไปสถานที่ต่าง ๆ เพื่อตรวจสอบการรับเงินและการจ่ายเงินว่าเป็นอย่างถูกต้องตามกฎหมาย กฎ ระเบียบ ข้อบังคับหรือไม่ รวมถึงการใช้งบประมาณ เงิน และทรัพย์สินอื่น ๆ ที่อยู่ในความครอบครองของหน่วยงานของรัฐด้วยว่าเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ประหยัด และคุ้มค่าหรือไม่

(๑) อำนาจในการตรวจสอบและพิพากษาบัญชีของสมุห์บัญชี

จักรพรรดินโปเลียนได้สถาปนาศาลบัญชีขึ้นเมื่อปี ค.ศ.  ๑๘๐๗[๖] โดยกำหนดให้ศาลบัญชีมีหน้าที่หลักในการตรวจสอบความถูกต้องและทำการพิพากษาบัญชีที่สมุห์บัญชีของรัฐ เป็นผู้เก็บรักษา โดยอำนาจในการพิพากษาบัญชีของสมุห์บัญชีของรัฐมาจากหลักพื้นฐานของกฎหมายการคลังฝรั่งเศสซึ่งได้มีการแบ่งแยกบุคคลผู้รับผิดชอบในการสั่งจ่าย (Ordonnateurs หรือ authorizing person)  และสมุห์บัญชีผู้มีหน้าที่ในการจ่ายเงิน (Comptable หรือ accountant) เพื่อเป็นการคานอำนาจระหว่างผู้มีอำนาจในการสั่งจ่ายเงินและผู้มีหน้าที่จ่ายเงินและให้ทั้งสองฝ่ายจะได้ตรวจสอบซึ่งกันและกัน[๗]  ทั้งนี้ ได้มีการกำหนดความรับผิดของสมุห์บัญชีไว้เป็นการเฉพาะ โดยหากมีการกระทำความผิดอันส่งผลให้มีเงินขาดไปจากบัญชี สมุห์บัญชีต้องรับผิดชอบทางแพ่งเป็นการส่วนตัว ซึ่งในปัจจุบัน ประเทศฝรั่งเศสก็ยังคงระบบความรับผิดของสมุห์บัญชีไว้ โดยทุกสิ้นปีงบประมาณ สมุห์บัญชีจะต้องส่งบัญชีให้ศาลบัญชีหรือศาลบัญชีภาคแล้วแต่กรณี เพื่อตรวจสอบว่าได้มีการเบิกจ่ายเงินและรับเงินถูกต้องตามที่กฎหมาย กฎ ระเบียบ ข้อบังคับกำหนดไว้หรือไม่ ในกรณีที่มีเงินขาดไปจากบัญชี สมุห์บัญชีต้องรับผิดทางแพ่งเป็นการส่วนตัวเพื่อชดใช้เงินที่ขาดไป ทั้งนี้ ไม่ว่าจะได้มีเจตนากระทำผิดหรือไม่ก็ตาม (responsabilité pécuniaire et personnelle des comptables) โดยในทางปฏิบัติ ศาลบัญชีจะทำการสุ่มตรวจบัญชีของหน่วยงานต่าง ๆ ที่สมุห์บัญชีเก็บรักษาอย่างน้อยหนึ่งครั้งในทุกสี่ปี โดยในปี ค.. ๒๐๑๔ ศาลบัญชีได้พิพากษาบัญชีโดยเฉลี่ย ๑๕๐ บัญชี โดยมีคำพิพากษาให้ชดใช้เงินคืนให้แก่รัฐทั้งหมด ๗๙ คดี สำหรับศาลบัญชีภาค ได้มีการพิพากษาบัญชีไปทั้งหมด ๒,๔๐๔ บัญชี โดยมีคำพิพากษาให้ชดใช้เงินคืนทั้งหมด ๒๐๒ คดี

(๒) อำนาจในการตรวจสอบการดำเนินงาน

อำนาจในการตรวจสอบการดำเนินงาน หมายถึง การตรวจสอบความถูกต้องตามกฎหมาย กฎ ระเบียบ ข้อบังคับของการบริหารการเงินการคลัง และตรวจสอบว่าได้มีการใช้ทรัพยากรและงบประมาณว่าเป็นไปอย่างประหยัดและประสบผลสัมฤทธิ์ตามเป้าหมายที่ได้มีการกำหนดไว้หรือไม่ โดยไม่ก้าวล่วงไปถึงการพิจารณาความเหมาะสมของการกำหนดนโยบายแต่อย่างใด โดยศาลบัญชีและศาลบัญชีภาค มีอำนาจในการตรวจสอบการดำเนินงานของทุกองค์กรที่มีการใช้เงินแผ่นดิน มิใช่เฉพาะองค์กรที่มีสมุห์บัญชีประจำอยู่เท่านั้น โดยศาลบัญชีและศาลบัญชีภาคสามารถตรวจสอบองค์กรเอกชนที่ได้รับเงินอุดหนุนจากภาครัฐ องค์กรประกันสังคม รัฐวิสาหกิจ องค์กรการกุศลต่าง ๆ และองค์กรที่ได้รับเงินอุดหนุนจากสหภาพยุโรปด้วยเช่นกัน ในการกำหนดแผนการตรวจสอบการดำเนินงาน นั้น ศาลบัญชีและศาลบัญชีภาคอาจกำหนดเรื่องที่จะตรวจสอบเองหรืออาจเป็นการดำเนินการตามคำขอของคณะกรรมาธิการของรัฐสภา[๘] หรือตามคำขอของผู้ตรวจการแผ่นดิน[๙] ก็ได้

ในการตรวจสอบหน่วยงาน ศาลบัญชีและศาลบัญชีภาคจะกระทำโดยเคารพหลักการมีสิทธิโต้แย้ง โดยเมื่อทำการตรวจสอบเสร็จแล้ว ศาลบัญชีหรือศาลบัญชีภาคจะจัดทำร่างข้อสังเกต ส่งไปยังหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องเพื่อหน่วยงานนั้นจะได้ชี้แจงเหตุผลและตอบข้อสังเกตดังกล่าว เมื่อการพิจารณาผลการตรวจสอบสิ้นสุดแล้ว ศาลบัญชีหรือศาลบัญชีภาคจะแจ้งผลการตรวจสอบไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รัฐมนตรีผู้รับผิดชอบ ในกรณีที่มีการกระทำผิดวินัยทางงบประมาณหรือการคลัง ก็สามารถส่งเรื่องต่อไปยังอัยการเพื่อทำการฟ้องคดีต่อศาลวินัยทางงบประมาณและการคลัง หรือหากเป็นกรณีที่ตรวจพบการทุจริต ก็สามารถส่งเรื่องต่อไปยังอัยการเพื่อดำเนินการฟ้องคดีต่อศาลอาญาได้เช่นกัน นอกจากนี้ ศาลบัญชีอาจแจ้งผลการตรวจสอบต่อคณะกรรมการธิการการคลังหรือคณะกรรมาธิการสืบสวนของรัฐสภาด้วยเช่นกัน  ทั้งนี้ สำหรับการตรวจสอบการดำเนินงาน ศาลบัญชีหรือศาลบัญชีภาคมีอำนาจเพียงแจ้งผลการตรวจสอบและข้อเสนอแนะในการแก้ไขข้อบกพร่องที่พบเท่านั้น ดังนั้น หน่วยงานไม่จำเป็นต้องปฏิบัติตามความเห็นหรือข้อสังเกตของศาลบัญชีหรือศาลบัญชีภาคแต่อย่างใดและศาลฯ ก็ไม่มีอำนาจทางกฎหมายที่จะบังคับให้หน่วยงานปฏิบัติตาม อย่างไรก็ดี ในทางปฏิบัติ ศาลบัญชีจะมีการติดตามผลการดำเนินงานตามข้อสังเกตของศาลบัญชีและศาลบัญชีภาคและทำการรายงานผลไว้ในรายงานประจำปีของศาลบัญชี ซึ่งจะได้มีการเสนอต่อรัฐบาลและรัฐสภา รวมถึงเผยแพร่ต่อสาธารณชนต่อไป

ปัจจุบัน การตรวจสอบการดำเนินงานถือเป็นภารกิจหลักของศาลบัญชี โดยคิดเป็นสองในสามของภาระงานทั้งหมดของศาลบัญชี ทั้งนี้ ในปีค.. ๒๐๑๔ ศาลบัญชีจัดทำรายงานตรวจสอบการดำเนินงานทั้งหมด ๓๗ ฉบับ และศาลบัญชีภาคจัดทำรายงานตรวจสอบทั้งหมด ๕๕๑ ฉบับ[๑๐]

(๓) อำนาจในการรับรองรายงานการเงินของรัฐบาล

มาตรา ๕๘-๕ ของรัฐบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยรัฐบัญญัติงบประมาณ ค.ศ. ๒๐๐๑ ได้กำหนดให้ศาลบัญชีจัดทำรายงานรับรองรายงานการเงินของรัฐบาล (Certification des comptes de l’Etat) ว่ารายงานการเงินดังกล่าวมีความถูกต้องสุจริต และเชื่อถือได้หรือไม่ (la régularité, la sincérité et la fidélité des comptes de l’Etat) โดยเรื่องดังกล่าวถือว่าเป็นเรื่องที่มีความสำคัญเป็นอย่างยิ่งสำหรับความโปร่งใสทางการคลัง เนื่องจากรายงานดังกล่าวเป็นหลักประกันถึงความน่าเชื่อถือของข้อมูลต่าง ๆ ที่รัฐบาลเสนอเพื่อประกอบการเสนอร่างรัฐบัญญัติปิดงบประมาณประจำปี (Loi de règlement) และให้ความมั่นใจในระดับที่เหมาะสมว่าข้อมูลดังกล่าวไม่มีข้อผิดพลาดโดยมีนัยยะสำคัญ  ทั้งนี้ ในปีค.. ๒๐๑๔ ศาลบัญชีได้รับรองรายงานการเงินของรัฐบาลโดยมีข้อสงวน ๕ ข้อ เช่น ข้อสงวนเกี่ยวกับระบบการตรวจสอบภายในและความน่าเชื่อถือของระบบข้อมูลทางการเงินการคลังอิเลกทรอนิกส์ เป็นต้น

นอกจากนี้ ศาลบัญชียังได้ดำเนินการรับรองรายงานการเงินของหน่วยงานอื่น ๆ ด้วย เช่น การรับรองงบการเงินของสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภานับแต่ปี ค.. ๒๐๑๓ โดยการร้องของทั้งสองสภา

(๔) อำนาจหน้าที่อื่น ๆ ของศาลบัญชีและศาลบัญชีภาค

มาตรา ๔๗-๒ แห่งรัฐธรรมนูญยังได้กำหนดให้ศาลบัญชีมีหน้าที่ให้ความช่วยเหลือรัฐสภาในการตรวจสอบการบริหารงานโดยรัฐบาล นอกจากนี้ ยังได้กำหนดให้ศาลบัญชีมีหน้าที่ช่วยเหลือรัฐบาลและรัฐสภาในการตรวจสอบการใช้จ่ายเงินตามรัฐบัญญัติงบประมาณและตามรัฐบัญญัติงบประมาณของสำนักงานประกันสังคม รวมถึงการประเมินผลการดำเนินนโยบายสาธารณะด้วยเช่นกัน โดยตามมาตราดังกล่าวประกอบกับมาตรา ๕๘ ของรัฐบัญญัติว่าด้วยรัฐบัญญัติงบประมาณ ค.. ๒๐๐๑ ศาลบัญชีจึงได้จัดทำรายงานต่าง ๆ เพื่อเสนอต่อรัฐสภาประกอบการพิจารณาร่างรัฐบัญญัติงบประมาณและร่างรัฐบัญญัติงบประมาณของสำนักงานประกันสังคม

สำหรับศาลบัญชีภาค นอกเหนือจากอำนาจในการตรวจสอบบัญชีและการตรวจสอบการดำเนินงานแล้ว ประมวลกฎหมายว่าด้วยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นยังได้กำหนดให้ศาลบัญชีภาคมีหน้าที่ในการตรวจสอบทางด้านงบประมาณขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นด้วย เช่น ในกรณีที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นไม่สามารถจัดทำงบประมาณได้ภายในกำหนดเวลา หรือไม่สามารถจัดทำงบประมาณสมดุลได้ เป็นต้น ผู้ว่าราชการจังหวัดต้องมีหนังสือแจ้งต่อศาลบัญชีภาคเพื่อให้เข้าไปให้ความช่วยเหลือในการจัดทำงบประมาณดังกล่าว

๑.๒ ศาลวินัยทางงบประมาณและการคลัง

ตามที่ได้กล่าวไว้แล้วข้างต้น ประเทศฝรั่งเศสได้มีการวางระบบการตรวจสอบการใช้เงินแผ่นดินโดยการให้อำนาจศาลบัญชีในการตรวจสอบบัญชีของสมุห์บัญชี อย่างไรก็ดี ในกรณีของผู้มีอำนาจสั่งจ่ายนั้น เดิม ไม่มีกฎหมายกำหนดโทษหรือความรับผิดใด ๆ ไว้เป็นการเฉพาะ[๑๑] จนกระทั่งในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง เนื่องจากการที่ไม่มีรัฐสภาที่มาทำหน้าที่ในการตรวจสอบการใช้เงินแผ่นดิน รัฐบาลในยุคนั้นจึงทำทุกอย่างตามอำเภอใจ ไม่ว่าจะเป็นการเสนอ การพิจารณา การอนุมัติ การใช้และการตรวจสอบงบประมาณ จากรายงานสาธารณะประจำปีของศาลบัญชีภายหลังจากที่สงครามโลกครั้งที่สองสิ้นสุดลง ปรากฏว่ามีข้อบกพร่องมากมายในการบริหารการคลังของประเทศ จึงทำให้รัฐสภาได้หาวิธีการป้องกันและแก้ไขข้อจำกัดในการลงโทษผู้กระทำความผิดของศาลบัญชี เนื่องจากเดิมศาลบัญชีมิได้มีอำนาจครอบคลุมไปถึงตัวผู้มีอำนาจสั่งจ่าย ด้วยเหตุนี้เองจึงได้มีการจัดตั้งศาลวินัยงบประมาณขึ้นในปี ค.. ๑๙๔๘ และเปลี่ยนชื่อมาเป็นศาลวินัยงบประมาณและการคลัง ในปี ค.. ๑๙๖๓[๑๒] เพื่อพิพากษาลงโทษผู้มีอำนาจสั่งจ่ายในกรณีที่มีการกระทำความผิดวินัยทางงบประมาณ โดยการวินิจฉัยลงโทษของศาลวินัยฯ จะมีลักษณะเป็นโทษปรับทางปกครอง โดยสามารถกำหนดบทลงโทษเป็นค่าปรับจำนวนไม่ต่ำกว่า ๑๕๐ ยูโรและสูงสุดไม่เกินจำนวนเงินเดือนสองปีของผู้ที่ถูกลงโทษ ณ วันที่การกระทำความผิดได้เกิดขึ้น แล้วแต่ฐานความผิดที่เกี่ยวข้อง  

นับแต่ได้มีการจัดตั้งศาลวินัยทางงบประมาณและการคลังในปี ค.. ๑๙๔๘ จนถึงปัจจุบัน ได้มีการตัดสินพิพาษาคดีไปเพียง ๒๐๔ คดี[๑๓] จากคดีที่ศาลได้รับไว้พิจารณาทั้งหมด ๕๙๙ คดี โดยอัยการมีคำสั่งไม่ฟ้อง (décisions de classement) จำนวน ๓๕๓ เรื่อง[๑๔]

๒. ประเทศอังกฤษ

องค์กรการตรวจเงินแผ่นดินของประเทศอังกฤษ ได้แก่ สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (National Audit Office) โดยมีผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน (Comptroller and Auditor General) เป็นผู้บังคับบัญชาของ ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินมาจากการแต่งตั้งจากกษัตริย์จากการเสนอของสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งในการเสนอแต่งตั้งนั้น นายกรัฐมนตรีเป็นผู้เสนอต่อสภาผู้แทนราษฎรโดยได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมาธิการการคลัง ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินมีวาระการดำรงตำแหน่ง ๑๐ ปี และมีสถานะเป็นเจ้าพนักงานของสภาผู้แทนราษฎร (Officer of the House of Commons) โดยในปัจจุบัน การดำเนินงานของสำนักงานตรวจเงินแผ่นดินอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของคณะกรรมการที่ประกอบด้วยสมาชิก ๙ คน เพื่อให้การดำเนินงานของสำนักงานฯ มีความโปร่งใสมากขึ้น บทบัญญัติในส่วนที่เกี่ยวข้องกับผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินและสำนักงานตรวจเงินแผ่นดินได้มีการกำหนดไว้ในกฎหมายทั้งหมด ๕ ฉบับ อันได้แก่ the Exchequer and Audit Departments Act 1866 และ 1921 the National Audit Act 1983 the Government Resources and Accounts Act 2000 และ Budget Responsibility and National Audit Act 2011[๑๕]

อำนาจหน้าที่ของสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน แบ่งออกได้เป็น ๒ ลักษณะ ดังนี้[๑๖]  

๑. การตรวจสอบการเงิน (Financial Audit)

การตรวจสอบการเงินของสำนักงานตรวจเงินแผ่นดินมุ่งเน้นไปที่การให้ความเห็นที่เป็นอิสระเกี่ยวกับรายงานการเงินประจำปีของหน่วยงานของรัฐ เพื่อตรวจสอบว่า
(๑) รายงานการเงินดังกล่าว มีข้อมูลครบถ้วนสมบูรณ์ ถูกต้อง และได้มีการเปิดเผยข้อมูลสอดคล้องกับมาตราฐานการรายงานการเงินหรือไม่
(๒) รายงานการเงินดังกล่าว ได้มีการบันทึกทรัพย์สินและหนี้สินทั้งหมดที่อยู่ในความครอบครองหรือความรับผิดชอบของหน่วยงานของรัฐ และได้มีการประเมินมูลค่าอย่างถูกต้องตามนโยบายการบัญชีหรือไม่
(๓) การรับและการจ่ายเงินตามที่ได้มีการบันทึกไว้ในรายงานการเงินดังกล่าว เป็นไปโดยชอบด้วยกฎหมายและมีความถูกต้อง

ในการตรวจสอบดังกล่าว สำนักงานตรวจเงินแผ่นดินเข้าไปตรวจสอบโดยใช้มาตรฐานการสอบบัญชีที่รับรองทั่วไปในระดับสากล และมีการวางแผนการตรวจสอบตามความเสี่ยงในแต่ละด้าน นอกจากนี้ เพื่อประโยชน์ในการให้ความเห็นเกี่ยวกับรายงานการเงินดังกล่าว สำนักงานตรวจเงินแผ่นดินจะประเมินประสิทธิภาพของระบบการตรวจสอบภายในว่าได้มีการดำเนินการสอดคล้องกับแผนการตรวจสอบที่วางไว้หรือไม่ และเสนอแนะให้มีการปรับปรุงในกรณีที่พบข้อบกพร่อง ทั้งนี้ ในปีค.ศ. ๒๐๑๕-๒๐๑๖ สำนักงานตรวจเงินแผ่นดินได้ดำเนินการตรวจสอบและรับรองรายงานการเงินของหน่วยงานทั้งหมด ๓๖๘ แห่ง

๒. การตรวจสอบความคุ้มค่าของการดำเนินงาน (Value for money หรือ Performance audit)

สำนักงานตรวจเงินแผ่นดินตรวจสอบความคุ้มค่า ประสิทธิภาพ และประสิทธิผล ของการดำเนินงานของหน่วยงานของรัฐ อย่างไรก็ดี มาตรา ๖ (๒) ของ the National Audit Act 1983  กำหนดขอบเขตของการตรวจสอบดังกล่าวไว้โดยชัดเจนว่า ไม่ถือเป็นการให้อำนาจผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินในการเข้าไปตั้งคำถามเกี่ยวกับความเหมาะสมของนโยบายตามวัตถุประสงค์ที่ได้มีการกำหนดไว้[๑๗] โดยในการตรวจสอบดังกล่าว สำนักงานตรวจเงินแผ่นดินต้องมีการวางแผนการตรวจสอบและกำหนดหัวข้อที่จะตรวจสอบในแต่ละปี โดยคำนึงถึงความเสี่ยง จำนวนเงินและทรัพยากรที่เกี่ยวข้อง ผลกระทบต่อโครงการดังกล่าวต่อประชาชน ขอบเขตการจัดทำรายงานข้อเสนอแนะ ความสนใจของสาธารณะและรัฐสภาเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว รวมถึงว่าการตรวจเข้าไปตรวจสอบจะก่อให้เกิดประโยชน์หรือไม่ เมื่อการตรวจสอบสิ้นสุดลง สำนักงานตรวจเงินแผ่นดินจะรายงานผลการตรวจสอบดังกล่าวต่อรัฐสภา และอาจเผยแพร่ได้โดยความเห็นชอบของสภาผู้แทนราษฎร 

ในปีค.ศ. ๒๐๑๕-๒๐๑๖ สำนักงานตรวจเงินแผ่นดินได้ดำเนินการตรวจสอบและจัดทำรายงานผลการตรวจสอบความคุ้มค่าของการดำเนินงาน ทั้งหมด ๖๕ รายงาน ดำเนินงาน นอกจากนี้ ยังดำเนินการตรวจสอบสืบสวน (investigations) เพื่อตรวจสอบกรณีปัญหาที่มีความจำเป็นเร่งด่วนในกรณีที่มีคำร้องขอจากสมาชิกรัฐสภาหรือประชาชน ทั้งหมด ๔๓ กรณีด้วยกัน

นอกจากนี้ ในแต่ละปี ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินจะได้จัดทำรายงานประจำปีเพื่อเสนอผลการตรวจสอบทั้งสองด้านของสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน ทั้งนี้ คณะกรรมาธิการการคลังอาจเรียกบุคคลมาไต่สวนเพิ่มเติมตามรายงานผลการตรวจสอบของสำนักงานตรวจเงินแผ่นดินและจัดทำรายงานข้อเสนอแนะของตนตามรายงานดังกล่าวเพื่อเสนอต่อรัฐบาล ซึ่งรัฐบาลมีเห็นชอบเพื่อให้ดำเนินการตามข้อเสนอแนะดังกล่าวหรือไม่ก็ได้ อย่างไรก็ดี โดยส่วนใหญ่แล้ว รัฐบาลจะเห็นชอบให้ดำเนินการตามข้อเสนอแนะของคณะกรรมาธิการการคลัง

                       




[๑] นักกฎหมายกฤษฎีกาชำนาญการ ฝ่ายกฎหมายการคลัง กองกฎหมายการเงินการคลัง สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เสนอต่อคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญเพื่อพิจารณาวันพุธ ที่ ๖ มีนาคม ๒๕๖๐
[๒] องค์กรดังกล่าวได้ถูกจัดตั้งขึ้นเมื่อ ปี ค.ศ. ๑๙๕๓ โดยมีวัตถุประสงค์ในการส่งเสริม
การแลกเปลี่ยนข้อมูล ความคิดเห็น และประสบการณ์ระหว่างประเทศสมาชิก เพื่อส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาการ
ด้านการตรวจเงินแผ่นดินที่ทันสมัย และสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินของประเทศไทยได้เข้าเป็นสมาชิกขององค์การตรวจเงินแผ่นดินสากล โดยการอนุมัติของคณะรัฐมนตรีเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๙๙
[๓] National Audit Office, State Audit in the European Union, December 2005, p. 11
[๔] National Audit Office, State Audit in the European Union, December 2005, p. 11
[๕] รายงานการดำเนินงานประจำปีของศาลบัญชี ค.. ๒๐๑๕
[๖] ศาลบัญชีถูกจัดตั้งขึ้นโดยรัฐบัญญัติลงวันที่ ๖ กันยายน ค.. ๑๘๐๗ และรัฐกฤษฎีกาลงวันที่ ๒๘ กันยายน ค.. ๑๘๐๗
[๗] ผู้มีอำนาจสั่งจ่ายจะมีหน้าที่ในก่อภาระผูกพันงบประมาณ ตรวจสอบมูลหนี้ที่เกิดขึ้น
และกำหนดจำนวนที่แน่นอนและออกคำสั่งจ่ายเงิน และสมุห์บัญชีจะมีหน้าที่จ่ายเงิน แต่ในการจ่ายเงินนั้น สมุห์บัญชีจะกระทำการตรวจสอบทางบัญชี (contrôle comptable) กล่าวคือตรวจสอบว่าผู้มีอำนาจสั่งจ่าย
เป็นผู้มีอำนาจสั่งจ่ายถูกต้องตามกฎหมาย ว่าเงินงบประมาณมีเพียงพอหรือไม่ หรือหนี้นั้นมีจริงหรือไม่ เป็นต้น
โดยการตรวจสอบทางบัญชีดังกล่าวจะกระทำโดยการตรวจสอบหลักฐานการเบิกจ่ายใบสำคัญเป็นหลัก หากมีเอกสารไม่ครบหรือมีข้อผิดพลาดประการใด สมุห์บัญชีสามารถระงับการจ่ายเงินได้และแจ้งไปยังผู้มีอำนาจสั่งจ่าย
[๘] มาตรา L. 136-4 แห่งประมวลกฎหมายศาลตรวจเงินแผ่นดิน
[๙] มาตรา ๑๒ แห่งรัฐบัญญัติลงวันที่ ๓ มกราคม ค.. ๑๙๗๓
[๑๐] รายงานการดำเนินงานประจำปีของศาลบัญชี ค.. ๒๐๑๕
[๑๑] เดิม ในกรณีที่ผู้มีอำนาจสั่งจ่ายเข้าไปแทรกแซงการทำงานของสมุห์บัญชี โดยเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับเงินที่อยู่ในความรับผิดชอบของสมุห์บัญชี แนวคำวินิจฉัยของศาลบัญชีจะถือว่า บุคคลดังกล่าวถือเป็น สมุห์บัญชีโดยข้อเท็จจริง” (gestion de fait) และต้องรับผิดชอบเป็นการส่วนตัวในกรณีที่มีเงินขาดไปจากบัญชีเช่นเดียวกับสมุห์บัญชี
[๑๒] อรพิน ผลสุวรรณ์ สบายรูป, ศาลวินัยงบประมาณและการคลังฝรั่งเศส La Cour de Discipline Budgétaire et Financière, รวมบทความทางวิชาการเนื่องในโอกาสครบรอบ ๗๒ ปี ศาสตราจารย์ ดร. อมร จันทรสมบูรณ์, สมาคมกฎหมายมหาชนแห่งประเทศไทย, ๒๕๓๕, . ๓๐๙
[๑๓] ที่มา : รายงานประจำปีของศาลวินัยทางงบประมาณและการคลัง ปี ค.. ๒๐๑๖
[๑๔] Stéphanie Damarey, Exécution et contrôle des finances publiques, Gualino éditeur, 2007, p. 349.
[๑๕] นอกจากนี้ The Local Audit and Accountability Act 2014 ยังได้กำหนดเพิ่มเติมอำนาจของสำนักงานตรวจเงินแผ่นดินในส่วนที่เกี่ยวข้องกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นด้วย
[๑๖] National Audit Office, State Audit in the European Union, December 2005 และข้อมูลจากเวปไซต์ https://www.nao.org.uk/
[๑๗] Part II Economy, Efficiency and Effectiveness Examinations
6 Public departments etc.
(1) The Comptroller and Auditor General may carry out examinations into the economy, efficiency and effectiveness with which any department, authority or other body to which this section applies has used its resources in discharging its functions.
(2) Subsection (1) above shall not be construed as entitling the Comptroller and Auditor General to question the merits of the policy objectives of any department, authority or body in respect of which an examination is carried out.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น