วันเสาร์ที่ 9 ธันวาคม พ.ศ. 2560

ข้อคิดจากตัวเลขรายได้ครัวเรือน โดย นายปกรณ์ นิลประพันธ์

ในความเห็นของผู้เขียน การที่ครัวเรือนมีรายได้ลดลงไม่ได้เป็นตัวชี้วัดว่าโครงการหรือกิจกรรมของรัฐไม่ได้ผล เพราะตัวเลขไม่ได้บ่งบอกว่าทุกครัวเรือนมีรายได้ลดลง ในทางตรงข้าม ถ้าพิจารณารายละเอียดจะพบว่ามีครัวเรือนที่มีรายได้เพิ่มขึ้นจำนวนไม่น้อย ดังนี้ การอ้างอิงตัวเลขนี้จึงมีปัจจัยอื่นที่ต้องคำนึงถึงและต้องแถลงให้เห็นเพื่อประกอบการพิจารณาของสาธารณชนด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง "ความสามารถในการหารายได้ของครัวเรือน"

หากครัวเรือนใดสามารถพัฒนา “ความสามารถในการหารายได้” ให้หลากหลายขึ้น ไม่ยึดติดอยู่กับการหารายได้แบบเดิม ๆ เพียงอย่างเดียว ความเสี่ยงที่ครัวเรือนจะมีรายได้ลดน้อยลง ก็จะลดน้อยลงตามไปด้วย ในทางตรงข้าม ครัวเรือนจะมีรายได้เพิ่มขึ้นเพราะที่มาของรายได้มากขึ้น ดังจะเห็นได้จากตัวเลขที่สะท้อนว่ามิใช่ทุกครัวเรือนที่มีรายได้ลดน้อยลง แต่มีเพิ่มขึ้นด้วย

ผู้เขียนเห็นว่าความสำเร็จในการพัฒนาความสามารถในการหารายได้นั้นมิได้ขึ้นอยู่กับรัฐเท่านั้น จริงอยู่ที่ว่ารัฐต้องส่งเสริมการพัฒนาความสามารถที่ว่านี้ของครัวเรือน แต่ไม่ว่ารัฐจะส่งเสริมอย่างไร หากครัวเรือนเองไม่พยายามที่จะพัฒนาความสามารถที่ว่านี้ของตน เคยอยู่อย่างไรก็จะอยู่อย่างนั้น ก็ยากที่ครัวเรือนนั้นจะมีรายได้ต่อครัวเรือนเพิ่มสูงขึ้น 

ดังนี้ ตัวเลขรายได้ครัวเรือนที่ลดลงในทัศนะของผู้เขียนจึงไม่ได้สะท้อนความล้มเหลวในการดำเนินกิจกรรมของรัฐโดยตรง แต่เป็นตัวเลขที่ดีอันแสดงให้เห็นว่ามีครัวเรือนร้อยละเท่าไรหรือจำนวนกี่ครัวเรือนที่เป็น "เป้าหมาย" ที่รัฐจะต้อง “ให้ความใส่ใจเป็นพิเศษ” ว่าจะใช้เทคนิคใดไปส่งเสริมให้ครัวเรือนเหล่านั้นมีความสามารถในการปรับตัวให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป 

กล่าวคือ ต้องทำให้ครัวเรือนนั้นสามารถเลี้ยงปลาเพื่อตกมากินเองได้ด้วย เพราะตอนนี้ตกปลาเป็นแล้ว แต่เป็นการตกปลาตามแม่น้ำลำคลอง ได้บ้าง ไม่ได้บ้าง ต้องพัฒนาครัวเรือนเป้าหมายให้ขุดบ่อปลาเป็น รู้จักวิธีการเลี้ยงปลาที่ถูกต้อง จะได้ตกปลากินได้ทุกวัน ไม่ใช่ตกได้บ้างไม่ได้บ้างดังที่เคยทำ ๆ มา

เพื่อประโยชน์ในการพัฒนาประเทศ ผู้เขียนเห็นว่าเราควรใช้ตัวเลขนี้เป็นฐานเพื่อค้นหาครัวเรือนเป้าหมายที่ต้องให้ความใส่ใจเป็นพิเศษในการเพิ่มขีดความสามารถในการหารายได้ของครัวเรือน และไปส่งเสริมครัวเรือนเป้าหมายให้มีความสามารถในการหารายได้ให้มากขึ้น การส่งเสริมเช่นนี้จะใช้วิธีเดียวกันทุกครัวเรือนเหมือนกันทั่วประเทศ (one size fit all) ไม่ได้ เพราะแต่ละครัวเรือนมีอัตลักษณ์และข้อจำกัดที่แตกต่างหลากหลายกันไป การทำงานของภาครัฐในการแก้ไขปัญหาครัวเรือนเป้าหมายจึงต้องมีความอ่อนตัวมาก

การหยิบยกตัวเลขเหล่านี่้ขึ้นมาให้สาธารณชนรับรู้ และให้ข้อมูลในทุก ๆ มิติเพื่อให้สาธารณชนได้รับทราบนับว่าเป็นเรื่องที่มีประโยชน์มาก เพราะจะทำให้การจัดทำนโยบายต่าง ๆ อยู่บนพื้นฐานของข้อเท็จจริง (Evidence base) มากขึ้น และมีความโปร่งใส (Transparency) มากขึ้น 

มาช่วยกันพัฒนาประเทศครับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น